Thursday, July 9, 2009

ให้บริการและขายโลงศพสุนัข

ด้วยความที่มีจิตใจรักสุนัขเป็นพื้นฐาน กอปรกับตั้งใจไว้ว่าจะทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุนัขให้ครบวงจร จึงเป็นเหตุให้ “อนุพันธ์ บุญชื่น” คิดอะไรที่ไม่ค่อยซ้ำแบบใคร…เป็นผลให้บังเกิดไอเดียเก๋ไก๋ในอาชีพ “ให้บริการและขายโลงศพสุนัข”

งาน ให้บริการและขายโลงศพสุนัข เป็นอาชีพใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นสด ๆ ซิง ๆ เมื่อประมาณต้นปี 2549 นี้เอง โดย “อนุพันธ์” เฉลยถึงที่มาอันเป็นจุดเริ่มต้นทำให้มาจับงานด้านนี้ว่า เกิดจากการที่ได้รับรู้ปัญหาของลูกค้าที่สูญเสียสุนัขเพราะอุบัติเหตุรถชน

แต่ ไม่ได้รับการดูแลบรรจุศพสุนัขในโลงให้สมกับเป็นสุนัขแสนรู้ที่เจ้าของรักนัก รักหนา ซึ่งในหัวอกคนรักสุนัขด้วยแล้ว คงไม่อาจยอมรับได้ที่น้องหมาผู้ซื่อสัตย์กับเจ้าของมาตลอดชีวิต แต่เมื่อถึงคราวต้องจากไปจะได้รับการปฏิบัติเพียงแค่บรรจุศพในถุงดำ ก็คงไม่ยุติธรรมเท่าไหร่

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดความคิดเปิดให้บริการดูแลและขายโลงศพสุนัขหลังการตาย ซึ่งถือเป็นอาชีพที่ทำแล้วมีความสุข สบายใจ ขณะ เดียวกันก็มีรายได้เข้ามาอย่างเป็นกอบเป็นกำเนื่องจากตลาดยังไม่มีใครเคยทำ ขณะนี้ได้เปิดเว็บไซต์ยี่ห้อโลงศพ “หลับสบาย” ให้กับผู้ที่มีใจ รักสุนัขแต่มีเหตุให้ต้องสูญเสีย สามารถเข้ามาติดต่อสอบถามราคาและบริการได้

ทั้งนี้ขนาดของโลงศพที่จัดทำจำหน่ายมี 3 ขนาดด้วยกันได้แก่
ขนาดเล็กมีราคา 2,000 บาท สำหรับให้บริการลูกสุนัขขนาดเล็กพันธุ์พูเดิ้ล ชิทสุ
ขนาดกลางเหมาะกับสุนัขพันธุ์เทอร์เรีย บางแก้ว
และขนาดใหญ่ พันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ เยอรมัน เชฟเพิร์ด และพันธุ์ลาบารดอร์ เป็นต้น

“เรา ยังไม่รู้ว่าตลาดสุนัขจะตอบรับ ไอเดียนี้อย่างไร แต่ก็ถือเป็นการเอาใจลูกค้าในกลุ่มที่รักสุนัขเป็นชีวิตจิตใจ เวลานี้มีลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาเฉลี่ยเดือนหนึ่งประมาณ 10 ราย ซึ่งลวดลายที่เราออกแบบในโลงศพจะแตกต่างจากโลงศพของคน โลงศพสุนัขเราจะเน้นความน่ารัก เช่น รอยเท้าสุนัข กระดูก เป็นต้น เพื่อไม่ให้ถูกมองว่ามีลักษณะคล้ายโลงศพคนอาจเข้าข่ายลบหลู่ได้”

เจ้าของไอเดียเก๋ขายโลงศพสุนัข พูดพลางอมยิ้มด้วยความปลื้มใจ ก่อนจะสาธยายต่อว่า
งาน ที่เราทำไม่ได้มีแค่ขายโลงศพอย่างเดียวแต่ยังมีบริการบรรจุศพสุนัขด้วย.. ทันที ที่ลูกค้าติดต่อเข้ามาจะมีรถบริการนำโลงไปรับศพสุนัขถึงบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อไป ถึงแล้วเจ้าหน้าที่จะนำศพสุนัขบรรจุในห่อผ้าดิบ นำใส่โลงพร้อมกับปิดฝาโลงให้สนิทรวมไปถึงการประสานเรื่องทำพิธีกรรมงานศพไป ที่วัดคลองเตยใน ซึ่งเปิดบริการรับสวดและเผาศพสุนัข ตลอดจนการลอยอังคารด้วย


นอกจากนี้บริการที่เปิดให้ กับลูกค้ายังมีเรื่องของการสลักชื่อ ประวัติสุนัขที่โลงศพและลงเว็บไซต์ให้ด้วยเพื่อสดุดีวีรกรรมความกล้าหาญและ ความซื่อสัตย์ของสุนัขตัวนั้น ๆ เพื่อที่ว่ายามที่เจ้าของเกิดความคิดถึงก็สามารถเข้าไปคลิกดูข้อมูลได้
“ผม คิดว่าขณะนี้ทิศทางตลาดสุนัข ในปี 2549 กำลังมาแรง คนรุ่นใหม่นิยมมาเรียนและทำธุรกิจเกี่ยวกับสุนัขกันมาก จนกลายเป็นแฟชั่น ไม่ต่างจากการเรียนภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์ อาจจะเป็นเพราะว่าในปัจจุบัน ความผูกพันระหว่างสุนัขกับคนไทย ได้แปรเปลี่ยนจากเดิม ที่ผู้คนมักจะเลี้ยงสุนัขเป็นเพียงแค่สัตว์เลี้ยง ไม่ได้มีอะไรที่เทียบเท่ากับคน แต่วิวัฒนาการที่เปลี่ยนทำให้คนให้ความรัก ความสำคัญกับสุนัข ประหนึ่งลูกในไส้ ทำให้ธุกิจเกี่ยวกับสุนัขบูมไปด้วย ผมเชื่อว่าธุรกิจนี้จะยั่งยืนเพราะอายุของสุนัขจะมีช่วงอายุไปจนถึง 12 ปี”

เรา กำลังมองหาพาร์ตเนอร์ เพื่อเป็นเครือข่ายทางธุรกิจจำหน่ายโลงศพสุนัขใน 76 จังหวัด ซึ่งเล็งไปที่กลุ่มตัวแทนหรือร้านค้าที่เปิดขายโลงศพอยู่แล้ว ซึ่งร้านค้าเหล่านี้จะมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนและมีต้นทุนการผลิตโลงศพใน ราคาที่ถูก ซึ่งสั่งทำโลงศพครั้งละมาก ๆ ก็จะได้ราคาที่ถูกลง ไม่แน่ถ้าเราสามารถเชื่อม ต่อกันได้ ต่อไปโลงศพสุนัขน่าจะมีราคาไม่เกิน 500 บาท

ไอศครีมผลไม้ จุดขายเพื่อสุขภาพ

”ไอศครีม” ไม่ว่า จะกี่ยุคกี่สมัยก็ยังเป็นของโปรดของเด็ก ๆ รวมถึงผู้ใหญ่หลาย ๆ คน ซึ่งต่อให้เป็นช่วงฤดูหนาว แต่ด้วยรสชาติหอมหวาน อร่อยชื่นใจ ไอศครีมก็ยังขายได้ขายดี โดยไอศครีมนั้นก็มีมากมายหลายชนิด รวมถึง “ไอศครีมผลไม้” ที่ไม่มีส่วนผสมของนม ไข่ ไขมันจากสัตว์ ซึ่งเป็นทางเลือกของผู้ที่ชอบทานไอศครีม แต่ห่วงสุขภาพ-ทรวดทรง

วันนี้ ทีมงาน “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลไอศครีมผลไม้มาฝากกัน....เมื่อเร็ว ๆ นี้ทีมงาน “ช่องทางทำกิน” ร่วมเดินทางไปกับคณะของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ไปที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อไปดูความสำเร็จของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบ การใหม่

น้อย-ดารา วงศ์วรรณ อายุ 42 ปี เจ้า ของร้านมิสซิสไอซี่ (MRS.ICY) ที่ผลิตและขาย “ไอศครีมผลไม้ไขมันต่ำ” ซึ่งมีกว่า 43 รสชาติ โดยส่วนใหญ่จะใช้ผลไม้ในท้องถิ่น และสมุนไพรต่าง ๆ ก็เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ทีมงานได้ไปพบ

คุณน้อยเล่าว่า เรียนจบปริญญาตรีสาขาบัญชีจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เข้าทำงานในบริษัทแห่งหนึ่ง แต่ก็ได้เรียนรู้ที่จะนำผลไม้ต่าง ๆ มาแปรรูปด้วย เพราะทางบ้านนั้นมีสวนผลไม้อยู่

ในตอนแรกก็ทำเป็นแยม โดยทำเป็นงานอดิเรกไว้รับประทานในหมู่ญาติและเพื่อน ๆ ต่อมาจึงทำขายด้วย ทำเป็นน้ำผลไม้ออกขายเพิ่มเติมจากแยม ซึ่งก็ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะไม่มีการใส่สารกันบูด สารปรุงแต่ง

ทั้งแยม ผลไม้และน้ำผลไม้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพื่อน ๆ ก็เลยเชียร์ให้ทำ “ไอศครีมผลไม้” ด้วย ซึ่งตอนแรกก็ไม่อยากทำเพราะไม่มีความรู้เรื่องไอศครีมเลย แต่ด้วยแรงเชียร์ก็เริ่มที่จะศึกษาด้วยตัวเอง โดยมีแนวความคิดว่าจะต้องทำเป็น “ไอศครีมเพื่อสุขภาพ” ไอศครีมที่ทำจะต้องไม่มีส่วนผสมของนม ไข่ ไขมันจากสัตว์ ไม่ใส่สารปรุงแต่ง สารกันบูด และจะต้องไม่หวานมาก

ทดลองทำ พัฒนาอยู่ประมาณ 1 ปี ก็ได้สูตรไอศครีมผลไม้ไขมันต่ำ ซึ่งในการทำระยะแรก ๆ นั้นมีอยู่ 20 รสชาติ นำทั้งผลไม้ท้องถิ่นมาทำ ไม่ว่าจะเป็น เสาวรส, มะเกี๋ยง, มะนาว, สตรอเบอรี่, มะม่วง, กระเจี๊ยบ ฯลฯ รวมถึงใช้พืชสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็น ขิง, ตะไคร้, สะระแหน่, งาดำ ฯลฯ มาพัฒนาดัดแปลงทำเป็นรสชาติไอศครีม จนเดี๋ยวนี่รสชาติไอศครีมของร้านมิสซิสไอซี่มีกว่า 43 รสชาติ

คุณ น้อยบอกอีกว่า อุปกรณ์ที่จำเป็นต้องมีในการทำไอศครีมขายหลัก ๆ ก็ได้แก่ เครื่องปั่นไอศครีม ที่เหลือก็จะเป็นอุปกรณ์ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นหม้อ เครื่องตวง เตาแก๊ส ทัพพี ฯลฯ

สำหรับเครื่องปั่น ไอศครีมนั้น ถ้าเป็นราคาเครื่องที่สั่งทำพิเศษของร้านมิสซิสไอซี่ ราคาอยู่ที่เครื่องละ 200,000 บาท แต่ถ้าเป็นเครื่องเล็ก ๆ ที่มีขายอยู่แล้ว เครื่องละ 6,000 บาทก็พอใช้ได้แล้ว สำหรับผู้ที่เริ่มลงทุนใหม่ ส่วนวัตถุดิบที่ต้องใช้ก็มีผลไม้ต่าง ๆ พืชสมุนไพร น้ำสะอาด น้ำตาล และไขมันจากพืช (น้ำมันมะกอก)

ขั้นตอนการทำไอศครีม คุณน้อยแจกแจงว่า เริ่มจากการนำผลไม้หรือพืชสมุนไพรที่ต้องการจะทำไอศครีมรสชาตินั้น ๆ มาทำการแปรรูป ผ่านกรรมวิธีเพื่อที่จะได้ออกมาในรูปของน้ำ

ใช้น้ำ ผลไม้หรือน้ำสมุนไพรที่ได้ประมาณ 80% ผสมน้ำสะอาดประมาณ 5% แล้วทำการต้มเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรค ระหว่างต้มก็ใส่เนื้อของผลไม้นั้น ๆ ประมาณ 14% ใส่ไขมันจากพืชคือน้ำมันมะกอก 1% และน้ำตาลเล็กน้อย ผสมลง ไปต้มแค่พอเดือด จากนั้นก็ยกลงพักไว้ผลไม้ที่นำมาทำไอศครีมควรใช้ผลไม้ที่มีความแก่จัด เวลาทำออกมาจะได้รสชาติ และกลิ่นของผลไม้นั้น ๆ อย่างเต็มที่

ขั้นตอนต่อไป หลังจากน้ำผลไม้หรือน้ำสมุนไพรที่ผ่านการต้มฆ่าเชื้อโรคเย็นสนิทแล้ว ก็นำไปปั่นในเครื่องปั่นไอศครีม ใช้เวลาปั่นประมาณ 15-20 นาที สังเกตดูพอเนื้อเนียนก็ใช้ได้

หลังจากปั่นจนได้ที่ก็ทำการเทจัด เก็บไว้ในกล่องที่เตรียมไว้ จากนั้นก็นำไปทำกรรมวิธีต่อไป คือการบ่ม ซึ่งการบ่มก็คือการนำไปแช่เก็บไว้เพื่อเป็นการทำให้เนื้อไอศครีมได้เซทตัว ใช้เวลาบ่มประมาณ 6 ชั่วโมงก็จะใช้ได้

ไอศครีมผลไม้ไขมันต่ำที่ไม่มี การใส่สารกันบูดนี้ สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานประมาณ 1 ปี แต่ต้องอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม คือ -18 องศาเซลเซียส

การขาย “ไอศครีมผลไม้ไขมันต่ำ” ของร้านมิสซิสไอซี่ คุณน้อยบอกว่า มีทั้งขายเป็นแพ็ก ๆ ละ 3 กก. ราคา 240 บาท/กก. หรือแพ็กละ 720 บาท และขายแบบเป็นถ้วย ๆ ละ 20 บาท

ในส่วนของต้นทุนต่าง ๆ รวมทั้งหมด คุณน้อยบอกว่า จะอยู่ที่ไม่เกิน 85%

ร้าน “ไอศครีมผลไม้ไขมันต่ำ” มิสซิสไอซี่ ของคุณน้อย อยู่ที่ 119/50 หมู่ 5 ถนนมหิดล ต.หนองหอย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ใครสนใจจะสั่งไอศครีม ซึ่งก็มีราคาขายส่งให้นำไปขายต่อด้วย ก็ติดต่อได้ที่ โทร. 0-1884-2300

นี่ก็เป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” ที่น่าสนใจ !!.

‘มันทิพย์-เผือกทิพย์’ อร่อยร้อน ๆ รับลมหนาว

อาหารการกินยอดนิยมบางประเภทจะเปลี่ยนไปตามสภาพอากาศ อย่างเช่นในฤดูร้อนพวกหวานๆ เย็นๆ อย่างไอศกรีม ลอดช่องน้ำกะทิ จะขายดี ฤดูฝนอาหารต้านไข้หวัด เช่น น้ำมะตูมอุ่นๆ หอมหวานชื่นใจ ก็ไปได้สวย และในฤดูหนาวอาหารร้อนๆ ก็จะได้รับความนิยม แต่วันนี้ทีมงาน “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลการขายอาหารที่เหมาะทั้งกับช่วงฤดูหนาวนี้ และทุกๆ ฤดู มาบอกกล่าวเล่าสู่กัน...นั่นก็คือ “มันทิพย์-เผือกทิพย์”


นงค์เยา ศิลาทอง หรือ “เจ๊ต้อย” อายุ 48 ปี เจ้าของร้านขาย “มันทิพย์-เผือกทิพย์” และกล้วยย่าง เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนขายกล้วยหักมุก-กล้วยน้ำว้าปิ้ง และกล้วยทับ ที่ท่าน้ำบางกอกน้อย ขายมานานประมาณ 30 ปี โดยสืบทอดมาจากรุ่นคุณแม่ ส่วนมันทิพย์-เผือกทิพย์นั้น ไปซื้อสูตรมาจากเพื่อนซึ่งทำขายอยู่ที่สะพานหัน นำมาดัดแปลงปรับปรุงสูตรใหม่เพื่อให้เป็นสูตรเฉพาะของตัวเอง จากนั้นย้ายมาขายอยู่ที่หน้าร้านขายยาเพชรรัตน์เภสัช ตรงข้ามโรงพยาบาลศิริราช เพราะทำเลแถวนี้ยังไม่มีคนขาย

“ มันทิพย์-เผือกทิพย์ เป็นเจ้าเดียวที่มีน้ำจิ้ม ช่วยเพิ่มรสชาติความหวานมันยิ่งขึ้น จะถูกใจคนที่ชอบทานหวาน น้ำจิ้มจะใช้หัวกะทิล้วนๆ เคี่ยวกับน้ำตาล เสร็จแล้วก็นำมันทิพย์-เผือกทิพย์ทับพอแบนๆ ไปแช่ เพื่อให้น้ำกะทิซึมเข้าเนื้อ ถ้าคนไม่ชอบหวานมากก็ทานแบบกลม ๆ ที่ปิ้งไฟอ่อนๆ หอมเหลือง ของเราจะรสชาติกลมกล่อมไม่เหมือนใคร ทำจากมันสำปะหลังล้วนๆ ไม่ได้ใช้แป้งและมะพร้าวขูดผสมเลย รับรองว่าได้เนื้อมันอร่อย เต็มๆ คำ”

ของทุกอย่างเจ๊ต้อยจะทำสำเร็จ มาจากบ้าน แล้วมาย่างขายที่ร้าน แต่ละวันจะทำมันทิพย์ 20 กก. เผือกทิพย์ 10 กก. ซึ่งในช่วงเทศกาลกินเจจะยิ่งขายดีมากเป็นพิเศษ ต้องทำของเพิ่มอีกเท่าตัว

เจ๊ต้อยบอกว่าจะมีลูกค้าขาประจำ-ขาจรแวะ เวียนมาอุดหนุนตลอด ซึ่งนอกจากเพราะติดใจรสชาติ-คุณภาพแล้ว คนขายก็ใจถึง อย่างมันทิพย์-เผือกทิพย์ขาย 8 ลูก 20 บาท ก็มักจะแถมให้ลูกค้าอีกคนละ 1- 2 ลูก ส่วนกล้วยปิ้งก็จะคัดเอาลูกใหญ่ได้ขนาดมาขาย ทำให้ไม่ฝาด หวาน หอม อร่อย

ทุกวันจะจัดร้าน ขายตั้งแต่ 7 โมงเช้า ขายไปจนถึง 4 โมงเย็น

อุปกรณ์ในการขาย ก็มี... เตาแก๊ส, ลังถึง, กะละมังเคลือบ (ใช้แทนเตาถ่านเวลาปิ้ง), ตะแกรง, มีด, เขียง, ที่คีบ, ถาดสเตนเลส, ถังน้ำ, ถุงมือ, ส้อม, ไม้พาย, ผ้าขาวบาง, ไม้จิ้ม, ไม้ทับ และอุปกรณ์อื่นๆ ที่สามารถหยิบฉวยได้จากในครัว

ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ในการทำขายแต่ละวัน ก็มี...มันสำปะหลังนึ่งสุกบดละเอียด 1 กก., ข้าวโพดต้ม 4-5 ฝัก, น้ำตาลทราย 2 1/2 ขีด (250 กรัม), หัวกะทิ 3 ขีด (300 กรัม ) และเกลือนิดหน่อย



ขั้นตอนการทำ “มันทิพย์”เริ่ม จากนำมันสำปะหลังมาหั่นเป็นท่อนๆ ปอกเปลือกออก ผ่าเอาแกนกลางหรือไส้ออกทิ้งไป เฉาะเป็นชิ้นๆ ขนาดไม่ใหญ่และเล็กจนเกินไป แล้วนำไปล้างน้ำให้สะอาด ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ ใส่น้ำในลังถึงประมาณครึ่งหม้อ นำขึ้นตั้งไฟ ใช้ความร้อนค่อนข้างสูง เมื่อน้ำเดือดพล่านนำมันสำปะหลังที่เตรียมไว้เรียงใส่ลังถึงชั้นบน ซึ่งรองไว้ด้วยผ้าขาวบาง ปิดฝาให้สนิท แล้วค่อยๆ ลดไฟลงปานกลาง นึ่งนานประมาณ 25-30 นาที จนมันสำปะหลังสุก แล้วจึงเอามาตำในขณะที่ยังร้อนๆ อยู่ โดยใช้ไม้พาย และช้อนส้อมคุ้ยให้ซุย เสร็จแล้วหั่นข้าวโพดต้มใส่ตามลงไปผสมคลุกเคล้ากับมัน ทำการนวดผสมให้เข้ากัน พักไว้

จากนั้นนำหัวกะทิผสมกับน้ำตาลและ เกลือ นำขึ้นตั้งไฟเคี่ยว เสร็จแล้วค่อยๆ เทใส่ในมันนึ่งกับข้าวโพดที่เตรียมเอาไว้ แล้วทำการนวดอีกครั้ง เมื่อนวดเข้ากันดีแล้วตั้งพักไว้ประมาณ 15-20 นาที เพื่อให้ส่วนผสมเข้ากันดี

ขั้นตอนต่อไปคือการนำมาปั้นให้เป็นลูก กลมๆ พอประมาณ กะให้ใหญ่กว่าลูกปิงปองนิดหน่อย เวลาขายก็จะนำไปปิ้งด้วยไฟอ่อนๆ อีกที พอเหลืองหอม เท่านี้ก็พร้อมขายได้เลย

“เคล็ด ลับสำคัญในการทำอยู่ที่มันสำปะหลัง ต้องเลือกหัวใหญ่ๆ เพราะเนื้อจะอร่อยกำลังดี และการนึ่งมันสำปะหลังจะต้องต้มน้ำให้เดือดพล่านเสียก่อนจึงนำขึ้นนึ่ง เพราะมันสำปะหลังถ้านึ่งนานมันจะยิ่งเกาะเหนียว ทำให้ไม่อร่อย” เจ๊ต้อยบอกเคล็ดลับ

และสำหรับ “เผือกทิพย์” การทำก็ใช้หลักการเดียวกันกับมันทิพย์

ใคร สนใจ “มันทิพย์-เผือกทิพย์” สูตรนี้ ร้านของเจ๊ต้อยอยู่ตรงข้ามโรงพยาบาลศิริราช หน้าร้านขายยาเพชรรัตน์เภสัช หาไม่เจอก็โทรฯสอบถามเจ๊ต้อยได้ที่ โทร.08-9457-0207

นี่ก็เป็นอีกช่องทางทำกินหนึ่งที่สามารถทำได้ง่าย ๆ กำไรงาม ต้อนรับฤดูหนาว และทุกฤดู

คู่มือลงทุน...มันทิพย์-เผือกทิพย์
- ทุนอุปกรณ์ ประมาณ 4,000 บาท
- ทุนวัตถุดิบ ขึ้นอยู่กับปริมาณการทำ
- รายได้ ขาย 8 ลูก 20 บาท
- แรงงาน 1 คน
- ตลาด ย่านชุมชนทั่วไป
- จุดน่าสนใจ กำไรดี, ทำง่าย-ขายคล่อง


เชาวลี ชุมขำ - สุพรรษา อยู่จันนา รายงาน / จเร รัตนราตรี ภาพ

‘โปสการ์ด’ ไปได้ดีถ้า ‘มีเอกลักษณ์’

ทีม “ช่องทางทำกิน” เคยเสนองานประดิษฐ์เกี่ยวกับโปสการ์ดและบัตรอวยพรที่ระลึกไปหลายครั้ง แต่งานประเภทนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะตัน ด้วยมีการคิดต่อยอดทยอยออกมาอยู่เสมอ เรียกได้ว่าเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ยังน่าสนใจ ทั้งเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม เพราะตลาดยังเปิดกว้างให้กับคนมีกึ๋น มีไอเดียอยู่เสมอ

อย่าง “การ์ดงานศิลปะอิงประวัติศาสตร์” ที่จะมาดูกันวันนี้...

กรินทร์ กรินทสุทธิ์ เจ้าของผลงาน เล่าว่า ได้รวมกลุ่มกับเพื่อนอีก 2 คนคือ ธงกิจ นานาพูลสิน และ รัมภา สาลิการิน ทำการผลิตโปสการ์ดแนว “ประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย” โดยได้แรงบันดาลใจมาจากความต้องการที่จะเผยแพร่เรื่องราวทางโบราณคดี ซึ่งเป็นความรู้ที่ตนเองและเพื่อนได้เรียนรู้มาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ให้คนทั่วไปได้เข้าใจมากขึ้น ทำให้มานั่งคิดว่าควรจะสื่อสารออกมาทางด้านใด จนสุดท้ายจึงมาลงเอยที่ “โปสการ์ด” เพราะมีต้นทุนไม่สูงมากนัก และสามารถเข้าถึงคนทั่วไปได้ง่ายที่สุด ปัจจุบันได้เริ่มผลิตและทดลองวางขายตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้สักระยะหนึ่งแล้ว โดยใช้ชื่อว่า SIAM_STORY เป็นชื่อสินค้า สำหรับรูปแบบของการ์ดที่ผลิตนั้นมีอยู่ 2 ชนิดคือ 1.การ์ดทำมือ ที่ใช้การผลิตด้วยมือเกือบทุกขั้นตอน กับ 2.การ์ดพิมพ์ ที่ออกแบบและสั่งให้ทางโรงงานพิมพ์ตามแบบที่กำหนด ขณะนี้มีทั้งหมด 8 รูปแบบ อาทิ มัคนารีผล พระวิษณุ ปัญจวัคคีย์ เป็นต้น โดยแทรกตำนานและเรื่องราวความเป็นมาให้ผู้ซื้อการ์ดได้ศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ แบบเข้าใจง่าย“ส่วนใหญ่จะเป็นรูปภาพเกี่ยวกับเทพเจ้าและตำนานความเชื่อตาม แบบพุทธศาสนา โดยมีเรื่องราวประกอบเหมือนกับเป็นการสรุปให้ผู้ซื้อได้อ่านและเข้าใจเรื่อง ราวอย่างง่าย ๆ”

เจ้าของผลงานบอกอีกว่า จากการทดลองขายพบว่าได้รับการตอบรับดีมาก โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ และก็มีคนไทยบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ชอบและสนใจทางด้านศิลปะและโบราณคดี

จาก การทดลองวางขาย ถ้าเทียบกับทุนที่ใช้ไป ถือว่าดีมาก เพราะมีคำชมเข้ามาเยอะ โดยตอนนี้ก็มียอดสั่งซื้อมาจากต่างประเทศบ้างแล้ว เนื่องจากเห็นว่าเป็นการ์ดที่แปลกและยังไม่มีใครทำในตลาด

เมื่อถาม ถึงสภาพการแข่งขันในตลาดนั้น เจ้าตัวบอกว่าไม่ค่อยกังวล แม้ตลาดของโปสการ์ดนั้นมีการแข่งขันสูง แต่ก็ยังมีช่องว่างให้ทำได้อีกมาก เนื่องจากถือเป็นตลาดที่แข่งกันที่ไอเดียและเอกลักษณ์เป็นสำคัญ และโดยส่วนตัวแล้วที่ทำการ์ดนี้ขึ้นก็ต้องการที่จะเผยแพร่เกร็ดเล็กน้อย เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทางศิลปะของไทย

แนวคิดการจัดทำการ์ดเชิง ประวัติศาสตร์ศิลปะนั้น กรินทร์บอกว่าสำหรับรูปภาพจะเน้นลักษณะให้ตรงกับต้นฉบับเดิมหรือรูปภาพเดิม มากที่สุด แต่นำมาปรับให้เหมือนเป็นการ์ตูนหรือลวดลายแบบกราฟิกเล็กน้อย ขณะที่ข้อความที่ประกอบอยู่บนโปสการ์ดนั้นจะเน้นที่สรุปความสำคัญของภาพด้วย ภาษาที่กระชับและเข้าใจง่ายที่สุด โดยขณะนี้การ์ดที่ผลิตใช้ภาษาอังกฤษและภาษาไทยประกอบ เพื่อต้องการให้ผู้ซื้อทำความเข้าใจกับภาพได้

ทุนเบื้องต้นนั้นใช้งบประมาณไม่เกิน 500 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าอุปกรณ์จำเป็นในการทำการ์ด อาทิ กรรไกร, คัตเตอร์, กาวลาเท็กซ์, กาวยูฮู และไม้บรรทัด ส่วนทุนวัตถุดิบนั้นอยู่ที่ประมาณ 30% จากราคาขาย

สำหรับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการทำการ์ดทำมือ อาทิ กระดาษสา, กระดาษลอกลาย, ดินสอสี, กระดาษลูกฟูก, กระดาษเงิน-กระดาษทอง และวัสดุตกแต่งตามต้องการ

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากทำการวาดลายหรือรูปภาพที่ต้องการลงบนกระดาษ หากไม่ชำนาญก็อาจจะใช้กระดาษลอกลายทาบที่ภาพต้นแบบและนำมาวาดลงบนกระดาษ ก่อนจะนำไปถ่ายเอกสารอีกครั้งโดยกระดาษที่ใช้ถ่ายเอกสารสำหรับทำภาพให้เลือก ใช้กระดาษสาชนิดบาง เพราะหากใช้กระดาษสาหนา ๆ กระดาษอาจติดขัดและทำความเสียหายกับเครื่องถ่ายเอกสารได้เมื่อได้ภาพแบบที่ ต้องการแล้ว ให้นำกระดาษสาหนามาตัดให้พอดีกับขนาดโปสการ์ดที่ต้องการ นำภาพที่ถ่ายเอกสารไว้มาตัดให้พอดีและติดทับด้วยกาวเข้าด้วยกัน จากนั้นจึงตกแต่งด้วยวัสดุตกแต่งตามต้องการ

เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ ซึ่งสำหรับราคาขายนั้น การ์ดทำมือราคาขายอยู่ที่แผ่นละ 45 บาท แต่ การ์ดพิมพ์ราคาขายอยู่ที่แผ่นละ 25 บาท โดยหากเป็นการ์ดพิมพ์ก็ขึ้นอยู่กับโรงพิมพ์ที่รับงานว่าสามารถพิมพ์ขั้นต่ำ สุดได้เท่าไหร่ ซึ่งราคาจะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับกระดาษและคุณภาพการพิมพ์เป็นสำคัญ

ใครสนใจการ์ดแนวประวัติศาสตร์ศิลปะที่ว่านี้ ติดต่อได้ที่ โทร.08-9486-7557 กับ 08-1441-5015 หรือทางอีเมลที่ siam_story@yahoo.com

“แม้ ตลาดของโปสการ์ดจะมีการแข่งขันสูง แต่หากใครที่มีไอเดีย มีฝีมือ และช่างคิดสักหน่อย ก็ยังถือว่าตลาดโปสการ์ดนี้ยังไม่ตันแน่นอน” เจ้าของผลงานกล่าว

ใครมีไอเดียสร้างเอกลักษณ์ใหม่ ๆ บางที “โปสการ์ด” อาจจะเป็น “ช่องทางทำกิน” ได้

'ตุ๊กตาผ้า' ขายได้ขายดีทุกเทศกาล

ถ้าพูดถึงของขวัญที่ได้รับความนิยม หนึ่งในของที่คนส่วนใหญ่มักจะซื้อเพื่อเป็นของขวัญมอบให้กับคนที่รักในงาน เทศกาลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ปีใหม่ วาเลนไทน์ รับปริญญา วันเด็ก ฯลฯ ก็จะรวมถึง “ตุ๊กตา” ที่มิใช่แค่ของเล่น เด็กเท่านั้น ซึ่ง “ตุ๊กตาผ้า” ก็เป็นหนึ่งในตุ๊กตายอดฮิต และวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอ...

สุชญา สุขหงษ์ ประธานกลุ่มหัตถกรรมผลิตตุ๊กตาบ้านวังน้ำเขียว ต.วังน้ำเขียว อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เป็นผู้ที่ผลิตและจำหน่ายตุ๊กตาทุกชนิด ภายใต้ชื่อ “PLOY TOYS” ซึ่งมีประสบการณ์ในการผลิตตุ๊กตามานานกว่า 10 ปี ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมีจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

ก่อน ที่จะมายึดอาชีพทำตุ๊กตานั้น สุชญาเล่าว่า เคยทำงานบริษัทผลิตตุ๊กตาส่งออก อยู่ฝ่ายการตลาด แต่ในช่วงยุคเศรษฐกิจฟองสบู่แตก บริษัทที่ทำอยู่ก็เริ่มให้คนงานออก และตนก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น หลังจากตกงานก็เริ่มหาช่องทางอาชีพทำ และก็ตกลงกับสามีว่าจะมาทำ “ตุ๊กตา” ขาย

“จากที่เคยอยู่ฝ่ายการตลาดของบริษัทเก่า ทำให้เห็นว่ายอดขายตุ๊กตามียอดจำหน่ายที่สูง บวกกับเป็นคนที่ชอบตุ๊กตาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงยิ่งทำให้เป็นเรื่องง่ายในการที่จะตัดสินใจทำตุ๊กตาผ้าขาย”

การ ทำตุ๊กตาอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่ไม่มีความรู้ทางด้านนี้ แต่ก็ไม่ยากถ้ามีความพยายาม พอเริ่มที่จะทำจริงจังก็เริ่มศึกษาวิธีการทำด้วยตัวเอง โดยหาซื้อตุ๊กตาผ้ามาแกะแยกชิ้นส่วนออกจนหมดทุกชิ้น เพื่อที่จะนำมาเป็นตัวอย่างในการทำ แรก ๆ ตุ๊กตาที่ทำออกมาจะนำไปขายตามงานวัดและตลาดนัด

ตุ๊กตาที่ผลิตขึ้นก็พอขายได้ แต่ยังไม่ค่อยมีมาตรฐาน อีกทั้งการบริหารจัดการต่าง ๆ ก็ยังไม่ดี สุชญาจึงเข้าไปอบรมในโครงการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถด้านบริหารจัดการธุรกิจในแต่ละด้าน ให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน

หลัง จากที่ได้เข้าอบรมก็สามารถวางแผนในการจัดการธุรกิจได้ดีขึ้น รู้จักการจัดทำบัญชี ได้เรียนรู้เทคนิคด้านการตลาด เทคนิคการขาย จากนั้นก็เริ่มมาพัฒนากลุ่มผลิตตุ๊กตาให้มีมาตรฐานมากขึ้น จนปัจจุบันผลิตภัณฑ์เริ่มเป็นที่ยอมรับจากลูกค้า ผลิตส่งให้กับบริษัทลิขสิทธิ์ถึง 70% และทางกลุ่มผลิตจำหน่ายเอง 30%

“ธุรกิจ ผลิตตุ๊กตาผ้า สินค้าที่ผลิตออกมาจะต้องเป็นที่ถูกใจลูกค้าจึงจะขายได้ เพราะฉะนั้นรูปแบบของตุ๊กตาจะต้องมีความโดดเด่น ที่สำคัญจะทำให้ธุรกิจไปรอดก็จะต้องเน้นในเรื่องคุณภาพสินค้า ตรงต่อเวลา และความซื่อสัตย์” สุชญากล่าว

ในการผลิต “ตุ๊กตาผ้า” ขาย วัสดุอุปกรณ์ในการทำที่สำคัญ ๆ ก็มีจักรเย็บผ้า, ผ้าสำหรับทำตุ๊กตาโดยเฉพาะ, ใยสำหรับยัดในตัวตุ๊กตา...

แหล่งวัตถุดิบที่เป็นแหล่งใหญ่ที่สามารถไปหาซื้อได้อยู่ที่ย่านบางบอน...

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากออกแบบตุ๊กตา หรือหาต้นแบบตุ๊กตาที่ต้องการจะทำ หลังจากที่ได้แบบที่ต้องการก็ทำแพตเทิร์น ซึ่งตุ๊กตา 1 ตัว อาจมีแพตเทิร์น 25-40 ชิ้น จากนั้นก็นำแพตเทิร์นไปวางทาบบนผ้า วาดตามรอยจากนั้นก็ตัดตามรอยเส้น ซึ่งวิธีนี้เป็น วิธีที่ง่าย แต่งานอาจจะช้าหน่อย

ในส่วนของสุชญาจะใช้วิธีการนำแพตเทิร์นที่ ได้ไปวาดลงบนแผ่นกระเบื้องกันความร้อน จากนั้นก็จะตัดตามแบบ ใช้เส้นลวดกันความร้อนชนิดแบนติดตามขอบกระเบื้องกันความร้อนที่ตัดตาม แพตเทิร์น ล็อกติดเข้าด้วยกันโดยใช้ลวดกันความร้อนเส้นเล็กเป็นตัวรัด เชื่อมต่อสายไฟที่จะต้องไปเสียบเข้ากับหม้อแปลงไฟฟ้าปรับแรงดัน สุดท้ายต่อด้ามจับด้วยไม้ วิธีการใช้ก็แค่เสียบปลั๊กไฟเข้ากับหม้อแปลงปรับแรงดันไฟฟ้า รอให้ลวดเกิดความร้อน จากนั้นก็ทำการปั๊มลงบนผ้า

วิธีนี้เป็นวิธีที่รวดเร็วในการตัดผ้า แต่ก็ต้องใช้ทุนสูงหน่อย โดยหม้อแปลงปรับแรงดันไฟฟ้ามีราคาอยู่ที่ประมาณ 12,000-13,000 บาท...

เมื่อ ได้ชิ้นส่วนตุ๊กตาทุกชิ้นครบ ก็ทำการเย็บแต่ละชิ้นให้เรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปก็คือการยัดใย ก่อนยัดใยก็นำชิ้นส่วนที่แยกเย็บมาเย็บประกอบกันให้เรียบร้อย แล้วทำการยัดใย ยัดเสร็จก็ทำการตกแต่งภายนอกให้เรียบร้อย

การยัดใย ใส่ในตัวตุ๊กตานั้นสามารถยัดด้วยมือได้สำหรับผู้ที่ยังไม่มีเงินทุนที่จะ ซื้อเครื่องฉีดใย ส่วนเครื่องฉีดใยนั้นมีราคาอยู่ที่ประมาณ 300,000 บาท ซึ่งคุณภาพตุ๊กตาที่ยัดใยด้วยเครื่องก็จะนิ่งกว่าการใช้มือ

จากนั้นก็ทำการเย็บปิดรูของตัวตุ๊กตาที่เป็นจุดยัดใย ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอน พร้อมจำหน่าย

ตุ๊กตา ของกลุ่มหัตถกรรมผลิตตุ๊กตาบ้านวังน้ำเขียว มีราคาขายตั้งแต่ 30-1,000 บาท โดยมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 70% ของราคาจำหน่าย ใครสนใจสั่งซื้อก็สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 08-1616-5967

จะสั่งไปจำหน่ายต่อเป็นอาชีพ หรือจะลองฝึกฝนทำขายเองก็สุดแท้แต่ !!.

วัด-มูลนิธิ แหล่งช็อปใหม่เสื้อผ้ามือสอง

ยุคข้าวยากหมากแพงสมัยนี้ เงินทองหายากเย็นเหลือเกินไม่ว่าจะหยิบจับข้าวของอะไรราคาก็แพงหูฉี่ ดูดเงินในกระเป๋าของขาช็อปได้ดีเหลือเกิน ทางเลือกหนึ่งที่พอจะช่วยได้นั่นคือ... ของมือสอง โดยเฉพาะเสื้อผ้ามือสองที่มีร้านค้า ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด เพราะด้วยจุดเด่นที่ราคาไม่แพง เจาะกลุ่มเป้าหมายของลูกค้าได้ทุกระดับ บวกกับช่องการจัดจำหน่ายก็ซื้อง่ายขายคล่อง ส่งผลให้เกิดพ่อค้า แม่ค้าหน้าใหม่เกิดขึ้นกันมากมาย

เสื้อผ้ามือสองแหล่งเสื้อผ้ามือสองที่บรรดาพ่อค้า แม่ค้านิยมหาซื้อนำมาขายนั้นที่รู้จักกันดีในก็คงหนีไม่พ้น ตลาดโรงเกลือ จ.สระแก้ว และตลาดตามชายแดนภาคใต้ แต่ระยะหลังพ่อค้า แม่ค้า เจอปัญหาของปลอมเสื้อผ้าไม่มีคุณภาพ อีกอย่างค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปซื้อก็เพิ่มสูงขึ้น ทั้งค่าน้ำมัน ค่าอาหารการกินต่างๆ จึงเปลี่ยนแหล่งเลือกซื้อเสื้อผ้ามือสอง มาเป็นที่ วัดและมูลนิธิต่างๆ ที่รับบริจาคเสื้อผ้าที่ใช้แล้ว จึงเป็นแหล่งที่พ่อค้าแม่ค้านิยมมาหาเลือกซื้อเสื้อผ้ามือสอง เพราะด้วยราคาที่ถูกแสนถูกบวกกับสามารถเลือกเสื้อผ้ากันได้อย่างจุใจ มีมากมายหลายแบบ ทั้งเสื้อผ้าเด็ก ผู้ใหญ่ ชุดนักเรียน ชุดทำงาน ชนิดที่ว่าใครมาก่อนก็มีโอกาสเลือกได้ก่อน

วัดและมูลนิธิจึงกลาย เป็นแหล่งกำเนิดเสื้อผ้ามือสองยอดฮิตอยู่ในเวลานี้ เพราะในแต่ละวันจะมีพ่อค้าแม่ค้าหมุนเวียนมาเลือกซื้อเสื้อผ้านับร้อยคน ซึ่งวัดที่ทุกคนรู้จักกันดีอย่าง "วัดสวนแก้ว" ถือเป็นตลาดยอดฮิตที่มีบรรดาพ่อค้า แม่ค้า เดินทางมาเลือกซื้อเสื้อผ้ามือสองกันอย่างคึกคัก และแทบจะทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ามาเลือกซื้อเสื้อผ้ามือสองที่วัดแห่ง นี้ เพราะราคาถูกและเลือกเสื้อผ้าได้อย่างเต็มที่ไม่จำกัดเวลา ชนิดที่ใครดีใครได้

เสื้อผ้ามือสองเสียง ยืนยันจากแม่ค้าขายเสื้อผ้ามือสองย่านโรงเรียนเรวดีอย่าง "ป้าแว่น" วัย 61 ปี บอกถึงการมาเลือกซื้อเสื้อผ้ามือสองที่วัดสวนแก้วว่า เสื้อผ้ามือสองที่วัดสวนแก้วจะมีมากมายหลายชนิดหลายแบบ ทั้งเสื้อผ้าของเด็กและผู้ใหญ่ ราคาไม่แพง มีตั้งแต่ตัวละ 1 บาท สามตัว 10 บาท ตัวละ 10 บาท อยู่ที่สภาพของเสื้อผ้า อีกอย่างสามารถเลือกได้อย่างจุใจไม่มีเวลาจำกัด ใครมีเวลามากและเลือกเป็นก็จะได้เสื้อผ้าดีๆ ไปขาย

"ที่แม่ค้าเสื้อ ผ้ามือสองหันมาซื้อเสื้อผ้าที่วัดไปขายกันมากนั้น เพราะการเดินทางมาที่วัดค่อนข้างสะดวกสบาย รวมทั้งต้นทุนที่ซื้อมาต่ำจึงตั้งราคาขายได้ง่ายไม่ต้องสูงมากนัก ซึ่งราคาขายก็จะอยู่ระหว่างตัวละ 30-50 บาท อยู่ที่แบบของเสื้อผ้า ลูกค้าเห็นก็จะตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น เนื่องจากราคาไม่แพงเหมือนกับเสื้อผ้ามือหนึ่ง" ป้าแว่นอธิบาย

เสื้อผ้ามือสองอีก หนึ่งแม่ค้าเสื้อผ้ามือสองย่านตลาดนัดบางลำพู ที่มาเลือกซื้อเสื้อผ้ามือสองจากวัดสวนแก้วไปขายต่อเป็นประจำ อย่าง ฤวดี วัย 35 เล่าว่า ที่มาเลือกซื้อเสื้อผ้ามือสองที่วัดไปขายต่อก็เพราะการเดินทางมาซื้อสะดวก สบายแต่ละเดือนก็จะมาซื้อประมาณสองครั้ง ที่สำคัญราคาไม่แพง มีเสื้อผ้าหลายชนิดให้เลือก หากเลือกดีๆ ก็จะได้เสื้อผ้าสภาพดีๆ ไปขายก็จะได้ราคาขายที่ดีตามไปด้วย ซึ่งเสื้อผ้าที่เลือกไปขายจะเป็นเสื้อผ้าวัยรุ่น เพราะวัยรุ่นชอบเปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อยและไม่อยากซื้อของแพง

"เสื้อ ผ้ามือสองที่ซื้อมาก็จะนำไปซักแล้วลงน้ำยาปรับผ้านุ่ม ก็จะทำให้เสื้อผ้าดูใหม่ น่าใส่มากขึ้น และสามารถตั้งราคาได้สูงขึ้นด้วย อย่างกางเกงยีนส์ก็จะอยู่ระหว่างตัวละ 70-100 บาท ยอมรับว่ามีแม่ค้าหันมาขายเสื้อผ้ามือสองกันมากขึ้น เพราะลงทุนต่ำ ซื้อขายกันได้ง่าย"

ใครจะนึกถึงว่าสมัยนี้ "วัด" ไม่ได้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นแหล่งกำเหนิดของแฟชั่นเสื้อผ้ามือสองไปอีกด้วย