Friday, October 21, 2011

เอสเตร่า จากตู้เสื้อผ้าสู่ศิลปะร่วมสมัย






เบื้องหน้าเธอคือราชินีแดนซ์ฟลอร์ กับลุคเปรี้ยว เริ่ด เชิด สวย แต่ใครจะรู้ว่าเบื้องหลังที่เป็นตัวตนจริงๆ ของเธอนั้น ตรงกันข้ามแบบสุดๆ เพราะเธอคือสาวน้อยจอมเปิ่น

ขัดแย้งในตัวเองซะขนาดนี้ มาดูกันสิว่า คุณเอสเตร่า ของเราจะเอาตัวรอดไปได้แค่ไหน แล้วการเดินทางตามฝัน ที่จะเป็นนักพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของเมืองไทยจะโหด มัน ฮา ยังไง เธอจะเอาความรู้ในงานศิลปะ และความรักพิพิธภัณฑ์มาช่วยแก้ปัญหาวุ่นๆ ในเรื่องในชีวิตประจำวันได้ขนาดไหน

ใครเลยจะคิดว่าตัวการ์ตูนเอสเตร่าที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นสื่อในการเชิญชวนให้ผู้คนไปรื่นรมย์กับงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ วันนี้จะกลายเป็นดาราขึ้นปกซีดีเพลงบอสซาโนว่าของยูนิเวอร์แซล มิวสิค ติดต่อกันถึง 3 ชุด แถมล่าสุดยังสวมเครื่องแต่งกายของห้องเสื้อ Kloset ขึ้นปกซีดี และยังไปเป็นนางแบบบนกระเป๋าผ้าของ Kloset ที่กำลังออกวางจำหน่ายเป็นลิมิเต็ดคอลเลคชั่นเมื่อไม่กี่วันมานี้

เอสเตร่า คือใคร และ ใครกันที่ผลักดันให้เอสเตร่าโด่งดังขึ้นมาในช่วงเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ...ไม่น่าเชื่อว่าวันนี้เอสเตร่ามีแฟนคลับ ถึงขนาดชวนกันไปชมคอนเสิร์ต และเที่ยวพิพิธภัณฑ์กันมาแล้ว

กำเนิดในร้านกาแฟ

วันหนึ่งในร้านกาแฟย่านสยามสแควร์ หทัยรัตน์ และ โอ๊ต มณเฑียร สองพี่น้องที่อายุห่างกันราวสิบปี หากสนิทสนมกันราวเพื่อนสนิทกำลังนั่งคุยกันไปเรื่อยเปื่อย

"จู่ๆ โอ๊ตก็บอกว่าชีวิตพี่ดาวนี่ตลกจังเลยนะน่าวาดเป็นการ์ตูน แล้วเขาก็หยิบสมุดขึ้นมาสเกตช์เป็นการ์ตูนที่มีคาแรคเตอร์เป็นดาว เราเรียกเธอว่าน้องเอส หรือ เอสเตร่า ซึ่งแปลว่า ดาว เป็นชื่อที่เพื่อนๆ เรียกตอนที่ไปเรียนเอเอฟเอสที่เวเนซุเอลาเมื่อตอนอายุ 16" หทัยรัตน์ บอกกับเรา

หลังจากนั้นไม่นาน โอ๊ต หนุ่มน้อยที่เรียนจบปริญญาตรีกราฟฟิกดีไซน์จาก Raffles College of Design and Commerce ที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย ในวัยแค่ 19 ปี ก็เข้าไปอ่านบล็อกของพี่ดาวที่เขียนถึงตัวเองว่า ชีวิตเริ่มต้นที่ตู้เสื้อผ้า

และแล้ว...เอสเตร่า สาวเริด เชิด สวย แต่โก๊ะ ก็กลายเป็นพรีเซ็นเตอร์ของกลุ่ม B Muse ที่พี่สาวก่อตั้งขึ้น โดยมี โอ๊ต เป็นคนวาดการ์ตูน ส่วนหทัยรัตน์เป็นคนเขียนเนื้อเรื่อง

B Muse เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รักในงานพิพิธภัณฑ์ มารวมตัวกันพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อสร้างวัฒนธรรมการไปพิพิธภัณฑ์ของคนไทยให้ขยายวงกว้างขึ้น ตั้งต้นกับโครงการชื่อ ไปพิพิธภัณฑ์แล้วหัวใจเบิกบาน "เราอยากชี้ให้คนในสังคมเห็นว่า การไปพิพิธภัณฑ์เป็นเรื่องใกล้ตัว"

ชีวิตเริ่มต้นที่ตู้เสื้อผ้า

หทัยรัตน์ บอกว่าแม้จะเรียนจบปริญญาตรีจากคณะโบราณคดี เอกประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ก็ไม่ได้สนใจเรื่องพิพิธภัณฑ์มากเท่าไรจนกระทั่งไปเรียนภาษาอังกฤษ ที่สหรัฐอเมริกา

"ตอนปี 2000 ได้ไปพิพิธภัณฑ์ที่ Getty Center นั่นเป็นจุดที่ทำให้ดาวเปลี่ยนใจเลย แม้ตอนนั้นยังไม่ได้สนใจเรื่องคอลเลคชั่น แต่ก็ประทับใจในความเป็นพิพิธภัณฑ์แล้ว ความรื่นรมย์ภายในทำให้เราอยู่แล้วมีความสุข เขามีโปรแกรมต่างๆ ให้ดูมีการเชื่อมโยงกันระหว่างด้านในและด้านนอก คาเฟ่ก็น่ารัก ร้านหนังสือก็ดี ทำให้รู้สึกว่า นี่แหละคือสิ่งที่เราตามหา" จากนั้นจึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทด้าน Museum Study ที่ Amsterdam School of the Art ประเทศเนเธอร์แลนด์ โรงเรียนที่สอนวิชาการพิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะ

เรียบจบกลับมาเมืองไทย เธอจึงจัดตั้งกลุ่ม B Muse ขึ้นมาเพื่อหาวิธีทำให้คนไทยไปพิพิธภัณฑ์มากขึ้น โดยมีสมาชิกเริ่มแรก 2 คน คือ เธอ กับ โอ๊ต

"โอ๊ต วาดการ์ตูนเอสเตร่า เรื่องชีวิตเริ่มต้นที่ตู้เสื้อผ้า ดาวก็เขียนเนื้อหาโดยหยิบยกเอาเรื่องของการจัดการพิพิธภัณฑ์มาเปรียบเทียบ กับการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน"

ถามว่าทำไมต้องเริ่มต้นที่ตู้เสื้อผ้า เธอบอกว่า "เพราะเวลาที่ตู้เสื้อผ้ามันเรียบร้อยมันรู้สึกว่าชีวิตเริ่มต้น เหมือนเป็นความสงบภายใน บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับดาวเองเรื่องแต่งตัวเป็นเรื่องสำคัญ ตู้เสื้อผ้าของคนอื่นอาจจัดตามแฟชั่นแต่ของดาวจัดตามสีค่ะ

"บางวันตื่นขึ้นมาวันนี้จะใส่สีอะไรดีนะ จัดตู้เสื้อผ้าจะทำเวลาที่เราสับสน การพับผ้าเหมือนเป็นการทำสมาธิ คนอื่นอาจคุกกิ้ง วาดรูป แต่ดาวจัดตู้เสื้อผ้า

"เริ่มคิดว่า เอ๊ะ ต้องหยิบง่าย สะดวกในการเลือก และสวยงาม แล้วเราก็มาเปรียบเทียบกับการจัดการในมิวเซียม ว่าเขาทำกันอย่างไร บางที่จัดเป็นเกรด เกรด A มาสเตอร์พีซ สิ่งที่เราเห็นในมิวเซียม ไม่ว่าจะเป็นบริติชมิวเซียม หรือที่ไหนๆ นั้นเป็นเพียงแต่ 5 -7 เปอร์เซ็นต์ของคอลเลคชั่นที่เขามี แล้วเขาจะจัดการกับสิ่งของที่มีหลายล้านชิ้นอย่างไร

"เราก็มาใช้กับการจัดตู้เสื้อผ้าตัวเอง แบ่งเป็นลิสต์เอ สวยเลิศเลอเพอร์เฟกต์ ลิสต์บีก็เป็นร้อยเก้าสิบเก้า เอาไว้ใส่อยู่บ้านลงมากินกาแฟกับเพื่อน ลิสต์ซีอาจเป็นเสื้อผ้าหน้าหนาวตามซีซัน ลิสต์ดีคือไม่ใส่แล้วแต่ยังมีอีโมชั่นแนลอยู่ เช่น เคยใส่ไปเดทกับคนนี้อยู่ หรือมีความหมายที่ยังทิ้งไม่ได้ เป็นคอลเลคชั่นส่วนตัว เป็นขำๆ เพื่อนก็บอกว่าเป็นเรื่องเป็นราว สุดท้ายมีประมวลผลว่า ลิสต์เอรวมกันได้ 24 ชิ้น ลิสต์บี 160 ชิ้น ประสิทธิภาพในการซื้อเสื้อผ้าอยู่ในขั้นวิกฤติ

เปรียบเทียบกับใน พิพิธภัณฑ์ กลุ่ม A ที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้นำมาจัดแสดงนิทรรศการถาวร กลุ่ม B จัดแบบหมุนเวียน ความสำคัญรองลงมา CDE เก็บคลังเพื่อศึกษาวิจัย"

การ์ตูนเรื่องนี้ดาวและน้องทุบกระปุกตัวเองจัดพิมพ์ออกมา 1,000 เล่ม ขายเล่มละ 50 บาท โดยวางแผนไปเปิดตัวกันที่งานแฟตเฟสติวัล ศูนย์รวมของกลุ่มเป้าหมาย

กลายมาเป็นสาวบอสซ่า

สองพี่น้องเปิดบูธในงานแฟตเฟสติวัล ปี 2008 โดยมีบอร์ดรูปการ์ตูนเอสเตร่าขนาดใหญ่ พร้อมจำหน่ายการ์ตูน เส้นทางของ เอสเตร่า ก็เกิดการหักเหอย่างคาดไม่ถึง

"วันนั้น คุณปิง ธนากร เป็นมาร์เก็ตติ้งเมเนเจอร์ของค่ายเพลงยูนิเวอร์แซล เจอตัวเอสเตร่า วันนั้นเรามีบอร์ดใหญ่มาก ทุกคนมาถ่ายรูปกับเอสเตร่า คุณปิงก็เดินมาถามว่า ถ้าจะให้วาดเป็นซีรีส์คอลเลคชั่นได้มั้ย โอ๊ตก็บอกว่าได้ ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไร จบงานเราก็เก็บบูธกลับบ้านไม่ได้คิดอะไร แต่เออ...เราได้ทำอะไรบางอย่าง พ่อแม่ก็งงๆ ว่า ลูกมาทำอะไรแต่เขาก็ซัพพอร์ต

"ไม่นานคุณปิงก็ติดต่อมาว่าเอาจริงนะให้ทำเป็นซีรีส์ ข้างในมีการ์ตูนด้วยได้มั้ย เลยออกมาเป็นชุดแรก คือ Cool Bossa เขาบอกคอนเซปต์มา วิธีการทำงานกับยูนิเวอร์แซลนี่น่ารักมากเลย ชุดแรกคอนเซปต์คือไปทะเล เนื้อหาในการ์ตูนเราก็เลยใส่เรื่องราวเหล่านี้เข้าไปด้วย สาวน้อยผู้รักศิลปะสุดหัวใจ ชีวิตสาวเมืองสวยหรูช่างดูดี แต่งตัวสวย มีปาร์ตี้ ได้เงินเยอะ แต่ความจริงแล้วก็ทำงานหนัก เจอแต่โฆษณาตลอดชีวิต งานยุ่งเจ็ดวัน ทะเลที่ได้เห็นคือทะเลที่อยู่ในจอคอมพิวเตอร์

"ดาวก็มาเล่นกับ beat Theraphy เอาเนื้อหาวิชาการมาเลยว่าเวลาที่เราเครียดๆ ได้มาฟังเพลงเบาๆ จะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย จังหวะของบีทดนตรีที่เต้นตรงกับจังหวะหัวใจเราเป็นจุดสมดุลที่ทำให้ร่างกายเราผ่อนคลายที่สุด เราก็หยิบคอนเทนท์นี้มาทำเป็นการ์ตูน คนเราบางทีไม่ต้องการอะไรมากแค่ได้มีเวลาให้ตัวเองสักเสี้ยวนาที

"คือดาวเชื่อว่า I believe in art อาร์ตมันเป็นประตูแรกที่นำไปสู่แฮปปิเนส นำเราไปสู่อัลเทอร์เนทีฟโซไซตี้ เพราะดาวเชื่อว่า การที่ได้รัก ชื่นชม ดูงานศิลปะ ทำงานศิลปะทำให้เรามีจิตใจที่ดีมีฮาร์โมนี ทำให้มีความอยากได้น้อยลง ลดการแย่งชิงเพราะว่าเรามีความสุขอยู่แล้ว ดาวพยายามใส่ตัววิชั่นนี้ไปทุกๆ ที่"

เอสเตร่า ชุด คูลบอสซ่า ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ชุดที่สอง สวีต บอสซ่า จึงตามมาในเวลาไม่นาน ตามด้วยชุดที่สามที่เพิ่มความชิค และ แฟชั่นลงไปด้วย

ชุดที่สองเป็นสวีทบอสซ่า มีการ์ตูนเอสเตร่าเล่าเรื่องดนตรีบอสซ่า เนื้อหาขยับขึ้นมาเข้มข้นขึ้นมาว่า ดนตรีบอสซ่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองนะ

อันสามเริ่มเบื่อฟอร์แมตเดิม เราบอกว่าเขาเองว่าเราเอา ชิค บอสซ่า นะเราจะทำกับแบรนด์แฟชั่นเฮ้าส์ เขาก็ช่วยกันเลือกเพลงส่งลิสต์มาให้เราดู เราก็กรี๊ดแตก ใช่ๆ ต้องประมาณนี้

แล้วก็แฟชั่นชิค เราจะร่วมงานกับใครดี ส่วนตัวปลื้ม Kloset มาก ก็เลยวิ่งไปหา พี่แก้ม มลลิกา เรืองกฤตยา แล้วเอาตัวเอสเตร่าไปพรีเซ้นท์ ทุกคนก็ชอบ บอกว่าเอา เราก็เลยมีการร่วมงานกับแบรนด์แฟชั่นด้วย นอกจากมีซีดี เลยมาเป็นปกซีดีชุด ชิค บอสซ่า เอสเตร่าสวมเสื้อผ้าคอลเลคชั่นใหม่ของ kloset แล้วก็มีกระเป๋าลิมิเตทเอดิชั่น วางที่ร้าน Kloset สยามเซ็นเตอร์

เอสเตร่าโกอินเตอร์

เอสเตร่า สาวบอสซ่าที่มาพร้อมเสียงเพลงและการ์ตูนแทรกให้อ่านคู่กับซีดีเพลง มีสัญญาขึ้นปกซีดีทั้งหมด 8 ชุด ภายในปี 2010 หลังจากนั้นยูนิเวอร์แซลจะปั้นให้เอสเตร่าออกไกด์บุ๊คฉบับเล็ก ควบคู่ไปกับซีดีเพลงชุดพิเศษ

"เป็นหนังสือเล่มเล็กเขียนคู่กับเพลง เช่น Soundtrack of London เราก็จะไปมิวเซียม เล่าเรื่องอาร์ต ดีไซน์ คุยกับดีไซเนอร์ โดยมีคาแรคเตอร์ตัวนี้ควบคู่ไปกับมีซีดีเพลงอยู่ในนั้น"

เส้นทางจากตู้เสื้อผ้า แม้ว่าจะหักเหไปสู่ถนนสายดนตรี ขยับไปหาแฟชั่น แต่ความมุ่งมั่นของสาวเริ่ด เชิด หยิ่ง แต่โก๊ะ ผู้ต้องการเชิญชวนทุกคนมุ่งหน้าสู่พิพิธภัณฑ์ยังมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ...เรามาคอยเอาใจช่วยเอสเตร่ากันต่อไปว่าหนทางข้างหน้าจะพลิกผันมันฮาแค่ไหน

สู้ต่อไปนะ...เอสเตร่า

สวย เริด เชิด อย่าง พริ้ง



ด้วยความที่เป็นหลานสาวคนแรก คุณแม่ของเธอจึงขอให้อากงช่วยตั้งชื่อเล่นหลานที่มีชื่อจริงว่า พิชยนันท์ จินดาพร อากงตั้งชื่อมาให้เลือก 2 ชื่อ คือ พริ้งกับ แจ๋ว ตามประสาคนจีนที่ไม่ค่อยคุ้นกับชื่อเล่นภาษาไทย คุณแม่ไม่รู้จะทำยังไง จึงเลือกชื่อ 'พริ้ง' อันกลายมาเป็นทั้งชื่อเล่นและชื่อของแบรนด์รองเท้าและกระเป๋าที่เปิดร้านหรู อยู่ใจกลางกรุงปารีสในภายหลัง

แต่ถ้าคุณแม่เลือกอีกชื่อหนึ่ง แบรนด์นี้ก็อาจจะมีชื่ออื่นก็ได้ ใครจะรู้...

1

เด็กหญิงพริ้งเติบโตขึ้นมาฉายแววซน ซ่า ตามประสาเด็กรักสวยรักงาม ครอบครัวจึงส่งลูกสาวคนสวยไปเรียนต่อที่อเมริกาตั้งแต่เธออายุ 15 ปี ร่ำเรียนจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาประวัติศาสตร์ศิลป์และการเต้นรำ จากยูซี เบิร์คลีย์ แคลิฟอร์เนีย ก่อนจะกลับมาเมืองไทยในวัย 22 ปี

"พริ้งโชคดีมากที่ได้เรียนทั้ง 2 สาขาไปพร้อมกัน และยังสามารถทำงานพิเศษที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะของมหาวิทยาลัย รวมทั้งรับงานเต้นให้บริษัทเล็กๆ ในเวลาเดียวกันด้วย ทั้งหมดนี้นำไปสู่ความเชื่อของพริ้งที่ว่า 'อะไรก็เป็นไปได้' ถ้าคุณมีความพยายามมากพอ และมีความฉลาดในการบริหารเวลา"

หลังจากกลับมาทำงานได้ 3 ปีเต็ม โดยทำแทบทุกอย่างที่สามารถทำได้ ทั้งเขียนหนังสือฟรีแลนซ์ให้หนังสือภาษาอังกฤษหลายหัวในเมืองไทย รวมทั้งเป็นแดนเซอร์ควบคู่ไปกับงานประจำแน่นเอี้ยด หญิงสาวก็เริ่มคิดถึงชีวิตในต่างแดนอีกครั้ง

และ ปารีส ก็คือคำตอบ

"ตอนนั้นทำหลายอย่างเหมือนหาตัวเองไม่เจอก็เลยต้องจับปลาหลายมือ แล้วก็รู้สึกอยากเปลี่ยนแปลง เบญจเพสด้วยมั้ง อยากกลับไปเรียนต่อ ตั้งใจว่าจะต่อโทด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ที่เรียนมา แต่พอได้ไปอยู่ปารีส ก็ลองไปฝึกงานที่แกเลอรี่ แล้วรู้สึกเบื่อ เหมือนว่าเราอยากทำอะไรที่สร้างสรรค์กว่านี้ แล้วก็เลยไปเรียนคอร์สออกแบบอยู่คอร์สหนึ่ง คอร์สไม่ค่อยได้เรื่องหรอกนะ เสียดายตังค์ (หัวเราะ) แต่มันก็ได้จุดประกายให้เราเข้าใจขั้นตอนการดีไซน์ขึ้นมานิดนึง"

แล้วอะไรๆ ก็ตามมา เมื่อพริ้งบังเอิญได้ไปช่วยงาน แบงคอก แฟชั่น โรดโชว์ ที่มาจัดที่ฝรั่งเศส ซึ่งช่วยให้เธอได้เข้าใกล้วงการแฟชั่นที่โน่นมากขึ้น ตามมาด้วยการถามไถ่ว่า เธอพอจะหาคนผลิตสินค้าจำพวกกระเป๋า รองเท้า จากเมืองไทยมาให้ดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสบ้างได้มั้ย

"เขา (ดีไซเนอร์) เห็นเสื้อผ้าจากเมืองไทยตัดเย็บสวยงาม เขาเลยให้เราลองหาคนทำที่เมืองไทยดู เพราะดีไซเนอร์ที่นู่นจะมีปัญหาเยอะ อย่างสินค้าราคาแพงมาก ถ้าราคาถูกหรือราคากลางๆ งานก็จะไม่สวย เวลาจ้างช่างที่สเปนหรือโปรตุเกสทำก็มีปัญหา ส่งช้าบ้าง คุณภาพไม่ดีบ้าง ก็เลยคิดว่าบ้านเราน่าจะทำได้"

เธอจึงกลับมาเมืองไทย ตะลุยดูโรงงานรองเท้าอยู่หลายแห่ง จนเกือบจะซื้อโรงงานรองเท้าเป็นของตัวเอง แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจลองทำเอง โดยไปหาช่างจากโรงเรียนฝึกอาชีพแถวบ้าน แล้วเริ่มต้นเช่าพื้นที่ทำโรงงานเล็กๆ โดยมีช่างอยู่ไม่กี่คนในตอนแรก

"เรามั่นใจว่าเราทำได้ เพราะเราคิดว่า เราแค่ต้องรู้ว่า (รองเท้า) ทำยังไง แต่เรารู้ว่าเราต้องการอะไร และเรารู้ว่าเรามีลูกค้าอยู่ในมือ เรามีตลาดในมือเยอะมาก แทนที่เราจะไปง้อคนอื่น เราลองทำเองดีกว่ามั้ย"

ประสบการณ์ครั้งแรกของเธอในฐานะเจ้าของโรงงานรองเท้ามือใหม่ที่ลงทุนย้ายกลับมาอยู่เมืองไทยระยะหนึ่ง จึงได้เริ่มต้นขึ้นแบบงูๆ ปลาๆ ลองผิดลองถูก และมีค่าเสียหายตามมาอยู่ไม่น้อย

"ตอนแรกคิดว่าให้เวลาช่าง 1 ปี เพื่อเทรนเขา เราก็เลยออกแบบรองเท้าให้เขาลองทำ เป็นความจำเป็นของเราที่ต้องฝึกช่าง แล้วก็เลยกลายมาเป็นแบรนด์เราเอง เพราเราอยากเป็นโรงงานมีคุณภาพ ก่อนจะรับออร์เดอร์คนอื่น จากนั้นก็ค่อยๆ ซื้อเครื่องมือ ซึ่งเคยโดนหลอกให้ซื้อเครื่องในตอนแรก เสียค่าโง่ไปหลายแสนอยู่"

ส่วนตัวเธอเองก็เริ่มต้นออกแบบรองเท้าจากที่ไม่เคยได้เรียนรู้ในสถาบันไหนมาก่อนเหมือนกัน อาศัยเพียงความชอบล้วนๆ บวกกับการขวนขวายหาความรู้เมื่อต้องมาทำธุรกิจของตัวเอง การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ระหว่างทางจึงตามมา

"ออกแบบไม่เป็นหรอกค่ะ จินตนาการว่าเราอยากได้รองเท้าแบบไหน เพราะเป็นคนชอบรองเท้าอยู่แล้ว แล้วก็เรียนรู้จากช่างมาเรื่อยๆ และคอยถามคนนู้นคนนี้เอา แล้วพริ้งเองก็ชอบรองเท้ามากด้วย อาจจะเพราะเคยเต้นมาก่อน เราก็เลยให้ความสำคัญกับรองเท้า แล้วรองเท้ามันก็น่าสนใจมีทั้งเทคนิก ทั้งดีไซน์ ทั้งหลายๆ อย่าง รู้สึกว่ามันท้า ใส่แล้วต้องเดินได้ รับน้ำหนักได้ เหมาะกับสรีระของคน"

จากไม่รู้ ก็กลายเป็นรู้ และกลายเป็นการเปิดตัวแบรนด์ พริ้ง ครั้งแรกในที่สุด เมื่อเดือนตุลาคม 2007

2

ใช้เวลาอยู่เป็นปี กว่าโรงงานจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง ไม่ต้องใช้เวลานึกนาน เธอก็ยังจำรองเท้าคู่แรกที่ผลิตจากโรงงานของตัวเองได้ดี แม้จะเป็นภาพที่ไม่ค่อยอยากจำเท่าไหร่

"ชิ้นแรกที่ออกมาไม่ได้ดั่งใจ ร้องไห้เลย เหมือนรองเท้านางพยาบาลคู่ใหญ่ๆ"

แต่เมื่อการผลิตลงตัวแล้ว รองเท้าพริ้งที่มีคอนเซปท์สำหรับสาวๆ ที่เซ็กซี่ มั่นใจและชอบความสนุกสนาน ก็ทยอยออกมาจากโรงงานในกรุงเทพคู่แล้วคู่เล่า ก่อนจะส่งตรงไปปารีสที่ซึ่งเธอใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่นั่น ยกเว้นเวลาที่ต้องกลับมาเมืองไทยทำคอลเลคชั่นของตัวเอง และดูแลการผลิตอย่างน้อยๆ ปีละ 3-4 ครั้ง

โดยขั้นตอนการทำงานของเธอในฐานะที่โรงงานและดีไซเนอร์อยู่คนละประเทศนั้น เริ่มจากความพยายามเซ็ตระบบให้ลงตัว โดยมีรูปแบบการทำงานคือ เธอทำหน้าที่ออกแบบ แล้วส่งให้ช่างขึ้นตัวอย่าง ขึ้นเสร็จแล้วก็ส่งมาให้ดูที่ปารีส ระหว่างนั้นก็จะติดต่อสื่อสารโดยใช้เว็บแคมคุยกับช่างทุกวัน แต่ถ้าเป็นคอลเล็คชั่นของตัวเอง เธอก็จะบินกลับไปลองตัวอย่างเองถึงโรงงาน

"ถ้าเป็นแบรนด์ของตัวเองก็จะต้องลองเอง เพราะอยากให้ใส่สบาย โดยใช้ตัวเองเป็นพื้นฐาน จะขึ้นตัวอย่างจากไซส์ของตัวเองทุกครั้ง"

เพราะกว่าจะได้รองเท้าออกมาแต่ละคู่นั้น ทุกขั้นตอนเต็มไปด้วยรายละเอียด ตั้งแต่ทำหุ่นเท้าให้สมบูรณ์แบบ จากนั้นก็ทำพื้นรองเท้า และส้นรองเท้าให้รับกับหุ่น ไม่รวมรายละเอียดมากมายอาทิ ใช้ด้ายอะไร ใช้หนังอะไรขลิบ ซับในด้วยอะไร ฯลฯ กว่าจะออกมาเป็นรองเท้า 1 คู่โดยเฉพาะรองเท้าแฮนด์เมดอย่างพริ้ง

ถึงตอนนี้โรงงานของเธอมีช่างอยู่ 20 คนแล้ว พริ้ง ตั้งเป้าว่าแต่ละปีจะต้องผลิตรองเท้าให้ได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 20,000 คู่ หรือวันละ 30-40 คู่ ซึ่งแบรนด์พริ้งมีสัดส่วนการผลิตเพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นสินค้าที่เธอออกแบบภายใต้ชื่อแบรนด์ของคนอื่น รวมทั้งแบรนด์ของสามีคือ Gaspard Yurkievich (กาซปาร์ด ยูรคีวิช)

"เรารับทำเฉพาะอะไรที่เราแก้ปัญหาได้ เพราะเราต้องแก้ปัญหาหน้างานตลอดเวลา เรายังไม่เก่งพอที่จะทำตามแบบที่คนอื่นดีไซน์มาเป๊ะๆ ได้ ส่วนที่ยังต้องออกแบบให้แบรนด์คนอื่น เพราะแบรนด์ตัวเองยังไม่เกิด เลยต้องทำให้แบรนด์อื่นไปก่อนค่ะ (ยิ้ม)"

ทุกวันนี้สินค้าของพริ้งยังมีกระเป๋าพ่วงเข้ามาด้วย โดยวางขายที่ร้านของเธอและตาม Selected Shop ต่างๆ ทั้งอเมริกาและยุโรป ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีทั้งจากลูกค้าชาวอังกฤษ อเมริกันและเยอรมัน

3

พริ้งออกผลงานมาแล้วทั้งหมด 4 คอลเลคชั่น ในช่วงเวลา 2 ปี คอลเลคชั่นละ 20 กว่าแบบ แบบละ 2-3 สี โดยผลิตเพียง 10 คู่ ต่อแบบ ซึ่ง 1 ในเจ้าของรองเท้าเหล่านี้จะต้องเป็นหญิงสาวมีความมั่นใจสูงและมีสไตล์ในแบบ 'พริ้ง'

"รองเท้าพริ้งคนใส่จะต้องเป็นกล้าแต่งตัว มั่นใจ รองเท้าผู้ชาย (ที่วางแนวคิดไว้) ก็อยากให้เป็นอารมณ์เดียวกับสาวพริ้งเหมือนกันคือ กล้าแต่งตัว"

พริ้ววางไลน์สินค้าในอนาคตของเธอที่กำลังจะตามมา โดยขยายฐานเพิ่มเติมจากสินค้า Luxury Affordable ที่คนเอื้อมถึงในราคาหลักหมื่นบาท ไปจนถึงสินค้าแบบไฮ-เอนด์ที่อยู่ในระหว่างเริ่มต้นผลิตให้ลูกค้าบางคน ตลอดจนสินค้าราคาถูกลงมาภายใต้ชื่อแบรนด์ใหม่ โดยเน้นแนวทางที่วางไว้คือ ไม่ตามกระแสใคร

"พยายามจะไม่ดูเทรนด์ เพราะคิดว่าถ้าเราจะเป็นแบรนด์ระดับโลก เราต้องเป็นผู้นำเทรนด์ ไม่ใช่ตามเทรนด์ คือ ตามปกติดู แต่เวลาดีไซน์เราจะไม่ดูเลย"

ส่วนความสำเร็จในวันนี้ ที่เริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงแฟชั่นทั่วโลก เธอยังมองเป็นเพียงก้าวเล็กๆ ที่เพิ่งเริ่มต้น เพราะความฝันจริงๆ ยังต้องใช้เวลาเดินทางต่อไป

"ถ้าเป็นไปได้ก็อยากเป็น Global Brand เหมือนเป็นไลฟสไตล์แบรนด์ ไม่ใช่แค่รองเท้า กระเป๋า แต่ต่อไปอาจจะมีเสื้อผ้า น้ำหอมของใช้ในชีวิตประจำวัน มันจะได้มีความท้าทายไปเรื่อยๆ ไม่หยุดนิ่ง"

และด้วยความมุ่งมั่นของ 'พริ้ง' เชื่อว่าคงมีหลายคนที่คอยให้กำลังใจแบรนด์ไทยแท้ฝีมือหญิงสาวมากความสามารถอย่างเธอคนนี้ ที่เพราะช่วงเบญจเพสอยากเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองที่เรียนมา

พวงกุญแจคู่รัก โดนใจวัยรุ่น ขายลื่น



ปัจจุบันตลาดงานแฮนด์เมดมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ตลาดก็มีการแข่งขันกันสูง เพราะฉะนั้น สินค้าแฮนด์เมด งานขายไอเดียจินตนาการ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมองหาจุดขายโดยการสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า อย่างงาน "พวงกุญแจคู่รัก" ที่ทีม "ช่องทางทำกิน" จะนำเสนอในวันนี้ ก็เป็นตัวอย่างที่ดี...

"มีน-สุภารัตน์ จันทรเชย" เจ้าของงาน "พวงกุญแจคู่รัก" ชื่อแบรนด์ว่า "meannemod" เล่าว่า งานตัวนี้เริ่มทำมาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีแล้ว เรียนทางด้านออกแบบนิเทศศิลป์ พอดีในมหาวิทยาลัยมีการจัดงานให้นักศึกษานำงานแฮนด์เมด มาจำหน่าย ตอนนั้นก็เกิดความสนใจและพยายามคิดทำสินค้าไปขาย

ตอนนั้นทำ "พวงกุญแจ" ที่เป็นไม้ เพราะเป็นงานที่ทำไม่ยาก และสมัยนั้นส่วนใหญ่คนมักจะทำเป็นพวกโลหะหรือพลาสติก ก็ใช้เทคนิคการพิมพ์ที่เรียนทำการพิมพ์ภาพติดลงบนไม้ แต่แรก ๆ ดูแล้วไม่น่าสนใจ จนในที่สุดก็ได้ไอเดียนำเทคนิคการวาดรูปการ์ตูนคิกขุเป็น "คู่รัก" แล้วลงสีให้สดใส

เมื่อทำออกจำหน่ายก็ได้รับการตอบรับจากเพื่อน ๆ นักศึกษาเป็นอย่างดี จึงมีความคิดที่จะขยายตลาดออกมาจำหน่ายข้างนอก ก็เปิดร้านขายที่ตลาดรัชดาฯ แยกรัชดาฯ ก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

"การทำพวงกุญแจคู่รักโดยใช้เทคนิคการวาดรูปนั้นไม่ยาก เพราะเป็นลายเส้นที่ไม่ยากมากเกินไป สำหรับคนที่ไม่มีทักษะทางด้านการวาดรูปก็สามารถฝึกทำได้ เริ่มจากดูแบบจากรูปการ์ตูนแล้ววาดตาม จากนั้นก็ลงสีตามจินตนาการเท่านั้น ลองฝึกดูไม่นานก็จะชำนาญ"

อย่างไรก็ตาม เจ้าของไอเดียกล่าวต่ออีกว่า งานวาดนั้นไม่ยากก็จริง แต่ที่ยากนั้นอยู่ที่การออกแบบ คิดแบบ เพราะแบบแต่ละลายนั้นจะต้องคิดออกมาใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ให้ซ้ำ ให้ลูกค้าได้มีตัวเลือกหลากหลาย แบบส่วนใหญ่ที่คิดออกมานั้นจะดูตามอินเทอร์เน็ต แล้วนำมาดัดแปลงประยุกต์เป็นแบบของตัวเอง โดยจุดเด่นของพวงกุญแจคู่รักจะเน้นวาดลายการ์ตูนที่ "น่ารักคิกขุ" สีสันสดใสสวยงาม ซึ่งถูกตาต้องใจกลุ่มวัยรุ่น

วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ทำ มีดังนี้... แผ่นไม้อัด, สว่าน, เลื่อยฉลุมือหรือไฟฟ้า, สีโปสเตอร์, พู่กัน เบอร์ 8-4-1, เคลียร์เคลือบเงา, ดินสอ, สติกเกอร์ใส และโซ่ (สำหรับร้อยเป็นที่ห้อย ใช้เป็นลักษณะไข่ปลา)

"แผ่นไม้อัดที่ใช้นั้นจะใช้ขนาด เอ1 ใช้ชนิดที่แผ่นหนาอย่างดี เพราะถ้าใช้ไม้อัดแผ่นบางเวลาลงสีแล้วจะทำให้ไม้เป็นขุย งานออกมาไม่สวย ส่วนสีนั้นที่จำเป็น ๆ ก็คือแม่สี แดง เหลือง น้ำเงิน และที่ต้องเพิ่มเข้ามาก็คือ สีขาว สีดำ สีน้ำตาล คุณสมบัติของสีโปสเตอร์นั้นเป็นสีที่แห้งเร็ว ทำให้สามารถทำงานได้เร็ว"

ขั้นตอนการทำเริ่มจาก...นำแผ่นไม่อัดขนาด เอ1 มาทำการวาดตีตารางเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 4.5 x 6.5 เซนติเมตร เป็นไซซ์ที่ใช้ทำพวงกุญแจ วาดจนเต็มแผ่นไม้อัด จากนั้นก็ใช้สว่านเจาะรูสำหรับใส่สายห้อยจนครบทุกชิ้น และจึงนำไปใช้เลื่อยฉลุตัดออกเป็นชิ้น ๆ ก็จะได้แผ่นไม้เป็นชิ้น ๆ ขนาด 4.5 x 6.5 เซนติเมตร

ไม้อัดทั้งแผ่นจะตัดแบ่งทำพวงกุญแจได้ประมาณ 100 ชิ้น

เมื่อตัดแผ่นไม้อัดเรียบร้อยแล้วก็นำกระดาษทรายขัดขอบให้เรียบ จากนั้นก็นำแผ่นไม้อัดที่ตัดไว้มา 2 ชิ้น คิดแบบลายที่จะวาด ใช้ดินสอวาดโครงร่างของตัวการ์ตูนตามแบบที่คิดไว้ลงไปบนแผ่นไม้

เมื่อวาดเสร็จก็ทำการลงสี

การลงสีนั้นก็ตามจินตนาการ โดยเริ่มลงสีจากพื้นที่ส่วนที่กว้างสุดก่อน นั่นก็คือพื้นหลัง แล้วจึงลงสีที่เสื้อผ้าของตัวการ์ตูน ตามด้วยลงสีผิว สีผม และแต่งตา จมูก ปาก หรือรายละเอียดอื่น ๆ ตามลำดับ

จากนั้นก็ใช้สีดำทำการตัดเส้น ใช้เคลียร์พ่นเคลือบเงา ใช้สติกเกอร์ใสติดทับอีกที เท่านี้ก็เรียบร้อย แต่ถ้าลูกค้าต้องการให้เขียนชื่อลงบนชิ้นงานด้วย ก็ต้องเขียนชื่อก่อนแล้วจึงค่อยติดสติกเกอร์ทับ

พวงกุญแจคู่รักนี้ ขายคู่ละ 50 บาท ถ้าเป็นชิ้นเดียวเดี่ยว ๆ ก็ราคา 25 บาท หากเป็นแบบชิ้นเล็กก็ราคา 15 บาท แต่ถ้าซื้อเกิน 20 ชิ้นขึ้นไป ราคาก็จะลดลงอีกนิดหน่อย ซึ่งต้นทุนจะประมาณ 50% ของราคา
กดกดกดกด

ใครสนใจ "พวงกุญแจคู่รัก" ถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ไปดูได้ที่แยกรัชดาฯ ตลาดรัชดาไนท์ ซอย 1 ช่วงกลาง ๆ ซอย มีน-สุภารัตน์จะเปิดขายเฉพาะคืนวันเสาร์ หรือต้องการสั่งออร์เดอร์เพื่อไปจำหน่ายต่อเป็นอาชีพ ก็โทรศัพท์ไปคุยกับมีนได้ที่ โทร.08-5862-9641 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกตัวอย่างงานแฮนด์เมดที่น่าสนใจ.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน/จเร รัตนราตรี : ภาพ

พิซซ่าสมุนไพร เอาใจคนรักสุขภาพ



ถ้าพูดถึงพิซซ่าแล้ว หลายคนคงจะมีพิซซ่าเมนูโปรดประจำตัวอยู่แล้วแน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นฮาวายเฮี้ยน ซีฟู้ด และอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคอพิซซ่าหน้าไหน วันนี้ ชุมทางอาชีพมีพิซซ่าหน้าใหม่มาแนะนำให้ท่านผู้อ่านได้ลองลิ้มชิมรสกัน ซึ่งโดยปกติแล้วพิซซ่าที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วๆ ไป จะเป็นรสชาติแบบเบสิกที่หากินได้ง่ายและรสชาติไม่แตกต่างกันมากนัก แต่รสชาติหน้าใหม่ที่จะมาแนะนำในวันนี้รับรองว่าถูกปากคนไทยที่ชื่นชอบอาหารที่มีรสชาติจัดจ้านเป็นทุนเดิมอยู่แล้วอย่างแน่นอน

คุณศิริวรรณ สัจจะเวนะ เจ้าของ อินเตอร์พิซซ่า พิซซ่าที่ฉีกความจำเจของพิซซ่าหน้าเดิมๆ และเพิ่มคุณค่าด้วยการโรยหน้าด้วยสมุนไพร เอาใจคนรักสุขภาพ ซึ่งจากประสบการณ์ทางด้านอาหารที่สั่งสมมากว่า 30 ปี ทั้งในประเทศอย่างภัตตาคารชั้นนำ รวมทั้งวิทยากรตามร้านอาหารชื่อดังในต่างประเทศอย่างดูไบและคูเวต รวมทั้งเป็นวิทยากรสอนการทำอาหารอีกด้วย จากความสามารถและความตั้งใจในการถ่ายทอดวิชาทางด้านการทำอาหาร จึงทำให้เกิดร้าน อินเตอร์พิซซ่าขึ้นมา

"หลังจากที่ลองผิดลองถูกอยู่นานกว่า 3 เดือน จนกระทั่งได้พิซซ่าที่รสชาติใช้ได้ก็เอาไปลองให้เพื่อนบ้านได้ลองทานกัน ก็มีคนชื่นชอบและทำให้มีคนที่ชอบสั่งเข้ามามาก จนทำให้หลายคนมาบอกให้เปิดเป็นร้านขึ้นมา เราก็เลยเปิดร้านขายอยู่ที่หมู่บ้านเคหะธานี 4 ซึ่งตั้งแต่เปิดร้านขึ้นมาทำให้มีกระแสตอบรับดีเกินคาด รวมทั้งพิซซ่าของเราจะแหวกแนวไปจากพิซซ่าทั่วไป ทั้งในเรื่องของรสชาติที่เป็นไทยๆ และเน้นไปทางกลุ่มคนรักสุขภาพด้วย"

จากการปรับสูตรและปรับปรุงแก้ไขจนสามารถปรับสูตรให้เข้ากับคนไทยได้รวมถึง 12 หน้า ไม่ว่าจะเป็น ธัญพืช, เห็ดหอม, สาหร่าย, ผักรวม, แกงเขียวหวาน, พะแนง, ผงกะหรี่, ต้มยำ, ต้มข่า, เบค่อน, ปูอัดไอส์แลนด์ และซีฟู้ด ในราคาเริ่มต้นที่ 49 บาทเท่านั้น

"แรกๆ ที่ทำออกมาก็มีคนถามว่าจะทานได้เหรอ? แต่เราก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทานได้และรสชาติดีไม่เป็นรองใครอีกด้วย ที่สำคัญก็คือมากด้วยคุณค่าทางอาหารจากสมุนไพรชนิดต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบในพิซซ่า ซึ่งดีต่อสุขภาพอย่างแน่นอน พิซซ่าสมุนไพรจึงไม่ได้มีเพียงแค่ความอร่อยเท่านั้น"

จากความพยายามที่จะสรรหาความแปลกใหม่มาต่อยอดกับสิ่งที่ทำอยู่ จึงทำให้คุณศิริวรรณคิดที่จะเปิดกิจการธุรกิจตรงนี้ขึ้นมาซึ่งคิดว่าตัวเองสามารถทำได้ด้วยดี ซึ่งเธอมองครอบคลุมในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของทำเลซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และวันนี้อินเตอร์พิซซ่าก็สามารถขยายกิจการไปได้กว่า 40 สาขาทั่วประเทศ ทั้งเกาะช้าง สมุย กระบี่ ฯลฯ พร้อมกับให้ความช่วยเหลือปรึกษาสำหรับผู้ที่ต้องการจะมีธุรกิจหรือเปิดกิจการอะไรสักอย่างเป็นของตัวเอง โดยหวังเพียงได้แบ่งปันความรู้ที่มีอยู่

"คือเราจะเน้นช่วยมากกว่าหวังเพียงแค่จะเอากำไรหรือเอารัดเอาเปรียบ ลองคิดดูซิว่าถ้าหากวันนี้เรามานั่งคิดว่าจะได้กำไรเท่าไหร่ เข้าเป้าที่ตั้งไว้ไหม ก็ทำให้เราเป็นทุกข์เปล่าๆ หากกลับกันเรามาคิดว่าวันนี้เราช่วยคนได้กี่คนแล้วพรุ่งนี้เราจะช่วยคนได้อีกกี่คน แบบนี้จะทำให้เราสบายใจที่เราได้ช่วยเหลือเพื่อนๆ ที่เดือดร้อน คิดแค่นี้ก็เป็นสุขแล้ว เรามาคิดดูว่าลูกค้าที่เข้ามาปรึกษาเราแล้วเขาสบายใจ เขามีความสุขเราก็มีความสุขไปด้วย มีอะไรสามารถปรึกษาได้ทุกอย่าง อย่างเวลาให้สูตรหรือให้คำปรึกษาถือว่าให้เป็นวิทยาทานไป ไม่หวงความรู้"

จากความที่คุณศิริวรรณมีความคิดที่อยากจะนำความรู้ที่ได้มาแบ่งปันให้กับผู้อื่นที่กำลังมองหาช่องทางในการหารายได้หรือนำไปประกอบอาชีพ ร้านอินเตอร์พิซซ่าสมุนไพรจึงสามารถเปิดกิจการได้ด้วยเงินลงทุนเพียง 3,250-40,000 เท่านั้น

"ทุกๆ ขั้นตอนการทำ ลูกค้าจะสัมผัสได้เลยว่า เราตั้งใจทำขึ้นมาจริงๆ และวิชาที่ถ่ายทอดต่อๆ ให้ไปเราก็ถือว่าเป็นวิทยาทาน เราแค่คิดว่าเราช่วยใครได้บ้าง อย่างคุณจะทำอาชีพอะไรสักอย่าง ซึ่งความจริงแล้วมีอาชีพเยอะแยะมากมายให้เเลือก มีหลายเส้นทางให้เลือกทำ ถ้าเราตั้งใจทำอย่างจริงจัง ทุกอย่างก็ไม่ยากอย่างที่คิด อย่างถ้าจะนำเงินก้อนหนึ่งมาลงทุนกับเรา เราก็ต้องช่วยเหลือเขาให้มากเหมือนกับเป็นครอบครัวเดียวกัน เพราะเรารู้ว่าทุกคนที่ลงทุนย่อมหวังผลที่จะตามมาจากการลงทุนนั้นอย่างแน่นอน"

หากท่านใดอยากปรึกษาหรืออยากทำอาหารอย่างอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศก็สามารถรวมกลุ่มไปขอคำแนะนำได้เช่นเดียวกัน ติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์ 0-2927-5979, 08-0912-5757 โดยทั้งนี้ คุณศิริวรรณเห็นว่าการลงทุนแต่ละอย่างเป็นเรื่องใหญ่มาก ฉะนั้นสามารถโทรเข้าไปคุยและปรึกษาก่อนได้หากยังไม่พร้อมในการลงทุน หรือลองแวะเข้าไปทักทาย ทางร้านก็ยินดีต้อนรับ

ที่มา นิตยสาร ชุมทางอาชีพ

พลิกวิกฤตสาวนักช้อป!



เมื่อตู้เสื้อผ้าเต็มไปด้วยของชิ้นโปรด แถมในมือก็ยังมีของชิ้นใหม่ที่เพิ่งซื้อมา คุณปราณี พุ่มกัน จึงคิดว่าคงต้องปล่อยของกันบ้าง เธอเลือกที่จะหยิบกางเกงยีนส์ขาสั้นที่เธอชอบซื้อมากที่สุดแต่ไม่ค่อยได้ใส่ออกมาขาย นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของอาชีพเสริมที่เธอจะทำทุกวันหลังเลิกงาน


รื้อตู้เสื้อผ้าเพื่อสร้างรายได้
"ต้องยอมรับก่อนเลยค่ะว่าเป็นคนชอบชอปปิงมาก วันหนึ่งก็ขอให้ได้ดู ขอให้ได้ซื้อ เสื้อผ้าบางตัวซื้อมาพอถึงบ้านก็ใส่ไม่ได้ จะเอาไปคืนเขาก็ไม่รับคืน ยิ่งเป็นพวกกางเกงขาสั้นแล้วละก็... ขอบอกเลยว่าดูดเงินพี่ไปได้เยอะแล้ว แต่ด้วยสรีระของพี่ที่เป็นคนอวบนิดๆ (หัวเราะ) เวลาร้านไม่ให้ลองพี่ก็จะซื้อมาเลย พอซื้อมาก็มักจะติดต้นขาบ้าง ติดสะโพกบ้าง พี่ก็เลยไม่ได้ใส่ กองอยู่ในตู้เสื้อผ้าจนมันมากขึ้นทุกวัน พี่เลยคิดว่าคงจะต้องเอาของที่เรามีไปขายบ้างแล้วล่ะ ตอนนั้นรวบรวมกางเกงยีนส์ขาสั้นในตู้เสื้อผ้าทั้งที่ใส่แล้ว และยังไม่ได้ใส่เกือบ 50 ตัว พี่ตกใจมากที่เรามีเยอะขนาดนี้ เลยรีบหาที่ขายของ ทำเลแรกที่พี่คิดคือ สยาม"



ทำเลทองมันไม่ ง่ายอย่างที่คิด
"สยาม ถือเป็นจุดศูนย์กลางแฟชั่นของคนกรุงเทพฯ คนผ่านไปผ่านมาหลายพันคนต่อวัน อีกอย่างที่ทำงานพี่อยู่ใกล้สยามมาก เลิกงานเสร็จก็แค่เตรียมของมาขายใกล้ๆ พี่เป็นคนชอบช้อปอย่างที่บอกไป ก็มักจะเจอคนมาปูผ้าขายของแถวริมถนนที่สยาม พี่เลยลองถามแม่ค้าพ่อค้าแถวนั้นดู จนรู้ว่าสยามแบ่งเป็นสามช่วง คนที่ดูแลก็จะมี 3 คน และค่าที่ก็ไม่แพง อยู่ที่ 150 บาท ขายได้ตั้งแต่สามทุ่มถึงห้าทุ่ม แต่ที่ขายเต็มหมดแล้ว ถ้าจะขายก็ต้องมานั่งรอร้านที่เขาขายประจำไม่มา ซึ่งพี่คิดว่ามันเสี่ยงมากที่จะต้องมาลุ้นรอขาย แต่โชคก็เข้าข้าง น้องที่พี่รู้จักเขาขายประจำอยู่ที่นี่ และเขากำลังจะเลิกขายของ เขาเลยโทรมาบอกให้พี่ขายต่อได้ ซึ่งทำเลที่ขายดีมากเพราะอยู่ตรงกลางๆ โซน"



ตะลุย โรงเกลือเพื่อลดต้นทุน
"กางเกงที่ร้านจะเป็นกางเกงยีนส์มือสอง ช่วงแรกๆ ก็จะเป็นกางเกงของพี่เอง แต่พอใกล้หมด พี่ก็ต้องหาของมาเพิ่ม พี่เริ่มติดต่อเพื่อนที่เขานำของมาจากตลาดโรงเกลือ เขาให้พี่ซื้อกางเกงยีนส์ขาสั้นต่อเขาตัวละ 100 บาท พี่คิดว่ามันแพงเกินไป เพราะของที่ร้านพี่จะขายอยู่ที่ 170 บาท กำไร และค่าเหนื่อยจะไม่คุ้ม พี่เลยลองไปที่ตลาดโรงเกลือด้วยตัวเอง ไปแบบคนไม่รู้จริงๆ เดินหาสิ่งที่ต้องการเกือบหมดวัน จนมีคนท้องที่พาพี่ไปเจอแหล่งกางเกงยีนส์ในโรงเกลือ พี่ไม่เลือกซื้อของมาเป็นกระสอบ พี่ว่ามันเสี่ยงเกินไป เลยยอมซื้อราคาแพง ซึ่งราคาจะตกอยู่ที่ตัวละ 50-80 บาท พี่จะเลือกตัวที่มีสภาพดีๆ เนื่องด้วยพี่เป็นผู้หญิงทำให้พี่จะคิดถึงสรีระของผู้หญิงส่วนใหญ่ โดยพี่จะเน้นไปที่สะโพกกับความกว้างของขากางเกง เพราะผู้หญิงไทยมักจะมีปัญหาเรื่องสะโพกกับต้นขาที่ใหญ่ กางเกงร้านพี่จะมีรอบเอวตั้งแต่ 24-42 นิ้ว และทุกตัวที่ซื้อกลับมา พี่จะต้องเอามาส่งแก้ทรงกางเกง และทำความสะอาด ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นต้นทุนที่สูงขึ้นอีก"



กำไรต่ำแถมเน้นการบริการ
"ลูกค้า ส่วนใหญ่จะชอบกางเกงยีนส์ขาสั้นที่ร้านพี่มาก เพราะราคาถูกและสภาพดีทุกตัว ส่วนใหญ่ก็จะมีคำถามว่า พี่ขายได้ยังไงตัวละแค่ 170 บาท เพราะแถวๆ นั้นจะขายอยู่ที่ 250 บาทขึ้นไป อย่างที่บอกไป ต้นทุนค่ากางเกงยีนส์อย่างเดียวก็เกือบหนึ่งร้อยบาทแล้ว ยังจะมีค่าเช่าที่กับค่าแรงอีก แถมพี่ก็ชอบลดราคาให้ลูกค้าก่อนต่อด้วย พี่จะบอกลูกค้าเสมอว่า นี่คือกางเกงยีนส์มือสอง ราคาที่ตั้งจะไม่สูงมาก แต่พี่จะเน้นขายของให้ได้จำนวนมากๆ และพี่จะซื้อใจลูกค้าด้วยการบริการที่ดี การคุยกับลูกค้าหรือการให้ลูกค้าได้ลองสวมใส่ก่อนซื้อถือเป็นการบริการที่ พี่อยากทำให้ พี่เคยเป็นคนซื้อมาก่อนพี่ย่อมรู้ดีว่าลูกค้าต้องการของดี ราคาถูก และบริการที่เป็นมิตร เมื่อลูกค้าชอบในสินค้าและบริการของพี่แล้ว ลูกค้าก็จะบอกกันปากต่อปาก พากันมาซื้อ ทำให้พี่มีรายได้ต่อวันอยู่ที่ประมาณ 2,000-4,000 บาท ซึ่งถือว่าเยอะและน่าพอใจ เพราะเราขายของแค่ไม่กี่ชั่วโมง"



สนใจอุด หนุนไปได้ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ ที่หน้าโรงภาพยนตร์สยาม ใกล้สยามสแควร์ ซ.5 ตั้งแต่เวลา 21.00-23.00 น. หรือโทร.089 988 5334





Be Magazine
ขอขอบคุณ : Be Magazineผู้สนับสนุนเนื้อหา

รุกตลาดขนมไทยบนโลกออนไลน์



ช่องทางการจัดจำหน่ายแบบเดิมๆ อาจไม่ใช่ทางออกเสมอไป การจัดจำหน่ายแบบไหนล่ะที่จะเข้าถึงผู้บริโภคได้รวดเร็วที่สุด? สาวออฟฟิศอย่างคุณปทิตตา จันทร์เพ็ญ จึงคิดรูปแบบการจัดจำหน่ายแบบออนไลน์ ซึ่งก็ดูไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่เมื่อสินค้าที่ขายเป็นขนมไทย การจัดจำหน่ายแบบนี้จึงต้องจับตามอง

ค้นสูตรจากโลกไซเบอร์
"จุดเริ่มต้นคือ ลูกชายเขาชอบทานขนมมาก พี่ก็อยากให้เขาทานขนมที่สะอาด และถูกสุขอนามัย ก็เลยลองทำเอง พี่เริ่มจากขนมที่ตัวเองชอบก่อนก็คือวุ้นกะทิมะพร้าวอ่อน ให้เขาชิมดูซึ่งเขาก็ชอบ หลังจากนั้นก็เลยลองเอาขนมที่เราทำไปให้เพื่อนๆ ที่ออฟฟิศชิมกัน ทุกคนก็บอกว่าอร่อยรสชาติถูกปาก คราวนี้พี่ก็เริ่มมั่นใจกับฝีมือตัวเอง จึงเริ่มค้นหาสูตรขนมไทยอื่นๆ เพิ่ม และมาลองทำดู เนื่องจากเรามีงานประจำต้องทำตลอดทั้งวัน จึงไม่สะดวกที่จะไปเรียนตามโรงเรียนสอนทำขนมต่างๆ คราวนี้ต้องใช้อินเทอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์ ค้นหาในเว็บไซต์ง่ายและสะดวกกว่า ค้นไปค้นมาจนได้อยู่หลายสูตร นำมาลองผิดลองถูกเอาเองจนได้รสชาติที่ถูกปาก"

ตีตลาดบนอินเทอร์เน็ต
"พี่ยังไม่พอใจกับสูตรที่ได้มาสักเท่าไหร่ ก็เลยไปปรึกษาญาติที่เป็นคนสุพรรณบุรี ซึ่งเขาทำขนมไทยกันเป็นอยู่แล้ว และแนะนำให้รู้จักญาติที่ย้ายไปอยู่เพชรบุรี ท่านทำขนมไทยขายอยู่แล้ว จึงได้คำแนะนำและเคล็ดลับดีๆ แต่ขนมเมืองเพชรค่อนข้างหวาน แล้วคนสมัยนี้โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ไม่ทานหวานมาก เราจึงลองปรับรสชาติให้ถูกปากลูกค้ามากขึ้น หลังจากลองทำอยู่นานพี่เลยนำสินค้าลงขายในเว็บไซต์ออนไลน์ โดยเลือกลงเว็บไซต์ที่ให้เราประกาศขายฟรีๆ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ พี่จะทำขนมเฉพาะลูกค้าสั่งเท่านั้น จะไม่มีการพรีออเดอร์ในเว็บ แต่จะให้ลูกค้าโทร.มาสั่งโดยตรงกับพี่ เนื่องจากพี่ไม่สามารถรับออเดอร์ลูกค้าได้ทุกคน โดยเฉพาะลูกค้าที่สั่งจำนวนมาก พี่จึงเลือกรับออเดอร์ด้วยตัวเอง"

การถนอมอาหารและการจัดส่งสินค้า
"พี่จะทำวันต่อวัน หมายถึงว่าลูกค้าจะโทร.มาสั่งขนมกับพี่ พี่ก็จะทำเองตอนหลังเลิกงาน แล้ววันรุ่งขึ้นก็จะเอาไปจัดส่ง ซึ่งตอนนี้ทางร้านขายขนมอยู่หลายประเภทมาก การจัดส่งก็จะแตกต่างกัน ถ้าเป็นวุ้น ลูกชุบ พี่จะไปส่งที่ขนส่งเอง เพื่อให้มั่นใจว่าเขามีห้องสำหรับเก็บขนมของเรา (เก็บที่ห้องแอร์ ไม่ใช่ห้องเก็บกระเป๋า) สำหรับลูกค้าที่อยู่ต่างจังหวัดจะต้องส่งตอนเย็น เพื่อเลี่ยงอากาศร้อนตอนกลางวัน และลูกค้าจะได้รับของวันรุ่งขึ้น หลังจากถึงมือลูกค้าแล้ว ลูกค้าต้องเก็บขนมตามคำแนะนำของพี่ ซึ่งจะเก็บไว้ได้นาน ขึ้นอยู่กับชนิดของขนม พี่จะไม่ใส่สารกันบูดลงไปในขนมเด็ดขาด เพราะมันคงไม่ดีต่อร่างกาย ส่วนขนมไทยประเภทอบแห้ง เช่น ฝอยทองกรอบ วุ้นกรอบ อาลัวและครองแครงกรอบ พี่จะทำตามออเดอร์ลูกค้า และจัดส่งทางขนส่งเช่นกัน แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นห้องแอร์ ปกติขนมไทยอบแห้งจะสามารถเก็บไว้ได้นานหลายสัปดาห์อยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยพบกับปัญหาของบูดหรือเสียเลย ส่วนเรื่องการแพ็คสินค้า พี่จะแพ็คใส่ถุงแก้วขยายข้าง ห่อถุงให้ตึง และใส่ลังกระดาษอีกชั้นเพื่อกันการกระทบกระเทือนของสินค้า ลูกค้าจะได้สินค้าในแบบที่สมบูรณ์ที่สุด"

ผลกำไรที่ได้รับ
"พอสินค้าเป็นที่ต้องการของลูกค้ามากขึ้น การสั่งสินค้าจึงยิ่งต้องควบคุม โดยพี่จะรับสั่งทำพวกขนมไทยอยู่ที่ครั้งละ 5 กิโลกรัมเป็นอย่างต่ำ ไม่รับการสั่งออเดอร์จำนวนน้อยๆ ที่ต้องทำอย่างนี้ก็เพื่อคำนวณหาจุดคุ้มทุนที่สุด เมื่อเทียบกับเวลาและแรงที่เราเสียไป ถ้าลูกค้าสั่งน้อยก็จะได้ไม่คุ้มเหนื่อย และลูกค้าเองก็จะไม่คุ้มกับค่าขนส่งที่ต้องจ่ายเองด้วย นี่เป็นวิธีการคิดของพี่เองเพื่อลดปัญหาการแบกรับภาระเรื่องต้นทุนทั้งของตัวเองและลูกค้า ในแต่ละเดือนพี่จะได้รายได้เสริมจากการขายขนมนี้ประมาณเดือนละหนึ่งหมื่นบาท แต่ถ้าเป็นช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ วาเลนไทน์ พี่ก็จะได้รายได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณสามถึงสี่เท่า ถ้าเราขยันก็จะยิ่งได้มากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นรายได้เสริมที่มากพอสมควรกับเวลาที่เหลืออยู่อย่างจำกัด จากการทำงานประจำ และการดูแลลูกด้วย เท่านี้ก็เพียงพอกับการใช้ชีวิตของพี่แล้ว"

เพิ่มจุดต่างด้วยการบรรจุหีบห่อ
"พี่ลองคิดทำขนมอาลัวดอกกุหลาบ กับลูกชุบรูปหัวใจขายในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ ผลตอบรับดีมาก แต่พี่คิดว่าถ้าเราเพิ่มการบรรจุหีบห่อที่น่าสนใจเข้าไป สินค้าเราน่าจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น เลยลองไปหากล่องรูปหัวใจกับถุงมาใส่ขนมเพื่อเพิ่มมูลค่า ผลตอบรับคือยอดการสั่งซื้อมากขึ้น ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อไปจะนำไปขายต่ออีกที เพราะฉะนั้นการบรรจุหีบห่อให้ลูกค้าเอาไปขายต่อได้ง่ายและสะดวกขึ้นจึงเป็นที่ต้องการของลูกค้า ถึงแม้เราจะเพิ่มค่าบรรจุหีบห่อไปอีกนิดหน่อยลูกค้าก็ยอมจ่าย เพราะเขาจะได้สินค้าที่พร้อมที่จะเอาไปขายต่อทันที แต่จะรับบรรจุหีบห่อให้เฉพาะเทศกาลสำคัญๆ เท่านั้นนะคะ"

สนใจอุดหนุนได้ที่ บ้านขนมสองพี่น้อง http://www.siamonlineshop.com/market/shop.asp?id=16945 หรือโทร.085 321 3891



Be Magazine
ขอขอบคุณ : Be Magazineผู้สนับสนุนเนื้อหา

สองฝันผสานส้มตำแท็กซี่



2nd Job
เรื่อง : รัตติกาล พูลสวัสดิ์ / ภาพ : สุตสาย สังหาร

Two Dreams
สองฝันผสานส้มตำแท็กซี่
หลังจากเกิดจุดพลิกผันในชีวิตด้วยโรคประจำตัวรุมเร้า คุณณัฐพล อินทร์พิมพ์ จึงตัดสินใจหารายได้เสริมเพื่อมาจุนเจือครอบครัวนอกจากการเปิดร้านส้มตำ ด้วยการคิดไอเดียธุรกิจเสือนอนกิน จับกิจการแท็กซี่เช่าเพื่อเริ่มต้นชีวิตที่แสนสุขสบายในอนาคต

พลิกผันอุปสรรค
"ผมเคยทำงานบริษัทมาก่อน แต่ว่ารายได้ไม่พอกับค่ากิน ค่าเช่าบ้าน ส่งลูกเรียน ผมเลยต้องมองอนาคตข้างหน้าว่าจะทำอย่างไรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จึงตัดสินใจเปิดร้านส้มตำในห้องเช่าเล็กๆ และเริ่มขยับขยาย เก็บเงินเพื่อหาทำเลซื้อบ้าน ผ่อนทำร้านส้มตำใหม่ หลังจากซื้อบ้านทำร้านใหม่ผมก็เริ่มล้มป่วยด้วยโรคเกาต์ จากที่รักษาตัวหายดีแล้วผมก็กลับมาขายส้มตำเหมือนเดิม ประมาณ 3 ปี ก็ล้มป่วยลงอีก ก็รักษาตัวไปด้วยค้าขายไปด้วย จนทำให้เราเริ่มมีความคิดที่อยากจะทำอาชีพเสริม ด้วยการปล่อยเช่าแท็กซี่ เผื่อเวลาที่เรายืนขายส้มตำไม่ไหว ผมจึงเริ่มเก็บเงินจากการขายส้มตำมาเรื่อยๆ จนมีเงินเก็บอยู่ประมาณ 4 แสน เลยแบ่งมาใช้ดาวน์รถแท็กซี่"

วางแผนมั่นคง
"เริ่มแรกให้คนเช่าขับ 2 คัน ประมาณ 7 เดือน ก็สามารถซื้อเพิ่มได้อีกคันหนึ่ง สรุปภายในปีนั้นก็เลยมีแท็กซี่อยู่ทั้งหมด 3 คัน รายได้จากแท็กซี่ผมแบ่งเป็นเงินเก็บเพื่อนำไปดาวน์รถแท็กซี่คันต่อไป เราจะไม่เอามาปนกับร้านส้มตำซึ่งจะเก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายภายในบ้าน การบริหารเงินส่วนนี้ไฟแนนซ์จะดูด้วยว่าบ้านเราเป็นอย่างไร ความเป็นอยู่อย่างไร บริหารหมุนเวียนรายได้ค่าเช่าแท็กซี่อย่างไร...

หลักการ + เมตตา
"การให้เช่าแท็กซี่แต่ละครั้ง ผมจะเก็บเงินมัดจำก่อนเป็นลำดับแรก 2,000 บาท แล้วก็สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาใบขับขี่ ผมจะคิดเป็นรอบ รอบละ 550 บาท/12 ชม. คือ 04.00 - 16.00 น. และ 16.00 - 04.00 น. เท่ากับว่าภายใน 24 ชม. จะได้ทั้งหมด 2 รอบ ถ้ามีคนขับเต็มทั้งเดือนทุกรอบ รายได้ต่อคันจะอยู่ประมาณ 30,000 บาท แล้วก็ค่างวดที่ผ่อนรถประมาณ 16,000 บาท ส่วนที่เหลือก็คือกำไร ผมมีวิธีดูแลลูกน้องเหมือนคนในครอบครัว ผมจะให้เขากินข้าวกินน้ำที่บ้านผมให้อิ่มก่อนออกไปทำงานทุกครั้ง ถ้าเขาอยู่ได้เราก็อยู่ได้ ไม่ตะบี้ตะบันขับเพื่อเอาเงินมาจ่ายค่าเช่า รถเราก็จะไม่โทรมเร็วด้วย"


ผสานเวลา
"ผมแบ่งเวลาดูแลร้านส้มตำคือเวลาปกติ ตื่นตีห้าครึ่งนอนเที่ยงคืน ช่วงประมาณสี่โมงเย็นผมก็จะออกไปดูแท็กซี่ เช็ครถ เขาก็จะมาจ่ายค่าเช่ากันตอนนี้ เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนกะ มันจึงเหมาะกับคนที่ทำธุรกิจประจำอยู่ที่บ้าน เพื่อจะมีเวลาดูแลแท็กซี่ และควรศึกษาเรียนรู้เรื่องเครื่องยนต์เบื้องต้นด้วย...





"ควรศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการจดทะเบียนแท็กซี่สาธารณะ ว่าแท็กซี่แต่ละสีจัดอยู่ในประเภทใด การจ่ายค่าประกันในแต่ละปี และการต่อภาษี ต้องศึกษาเรื่องพวกนี้อย่างละเอียด ถ้าคิดจะทำตรงนี้ละเลยไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งสำคัญมาก"



Profile
คุณณัฐพล อินทร์พิมพ์ อายุ 41 ปี
อาชีพตั้งต้น : พ่อค้าส้มตำ ‘ครัวไทอีสาน' (หมู่บ้านเสนา88)
2nd JOB : ธุรกิจแท็กซี่เช่า





Be Magazine
ขอขอบคุณ : Be Magazineผู้สนับสนุนเนื้อหา

เบเกอรี่แสนหวาน แม่ค้าขนมเสียงใส



2nd Job
เรื่อง : รัตติกาล พูลสวัสดิ์ / ภาพ : สุตสาย สังหาร

Bakery by DJ Noo
เบเกอรี่แสนหวาน แม่ค้าขนมเสียงใส

มนต์ทิพย์ ลิปิสุนทร อาจไม่คุ้นชื่อเท่า ‘ดีเจนู๋' ดีกรีนักร้องนำวง Kidnappers ผู้หญิงที่ทำงานหลากหลาย โดยใช้ความสามารถส่วนตัวล้วนๆ จากเสียงหวานอันไพเราะ อาทิ ดีเจเสียงใส หรือ Announcer โฆษณาโทรทัศน์และวิทยุ จนกระทั่งเธอได้ตัดสินใจทำธุรกิจที่พิสูจน์ความสามารถอีกด้านหนึ่ง คือการทำขนมเบเกอรี่ Home made ที่มีต้นทุนความสามารถจากคุณแม่ นำมาเป็นอาชีพเสริม

"คุณแม่ชอบทำขนม ทำเบเกอรี่ แล้วก็ชอบเอาไปแจกเพื่อนๆ จนมีคนบอกว่าทำขายไหม เราว่าก็ดีเหมือนกัน เพราะอยากทำเบเกอรี่อร่อยๆ ที่ได้คุณภาพมาตรฐานเหมือนกับทานเองที่บ้าน อยากทำขายราคาไม่แพง คุณแม่จึงตกลง เริ่มจากทำขายเล็กๆ วางขายละแวกที่มีพนักงานออฟฟิศ นู๋เองจะดูในส่วนของการวางแผนการตลาด การออกแบบ Packaging ให้ดูวัยรุ่นขึ้น มีการทำเว็บไซต์เพื่อการสั่งซื้อที่สะดวก และการ-รีเสิร์ชหาข้อมูล เป็นจุดเริ่มต้นที่ได้เข้ามาช่วยคุณแม่อย่างเต็มตัว"

ไม่ว่าการทำธุรกิจใดๆ Research เป็นสิ่งที่สำคัญมากจากข้อมูลต่างๆ ทั้งอิเล็กทรอนิกส์และผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจประเภทอาหารเช่นเบเกอรี่ จะทำให้คุณทราบถึง Feedbackจากผู้บริโภคโดยตรง และเป็นประโยชน์กับการปรับปรุงรสชาติให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค ไม่เพียงแต่การทำรีเสิร์ชเท่านั้นแหล่งทำเลต้องให้ความสำคัญเช่นกัน

"เราต้องดูเรื่องไลฟ์สไตล์คนด้วย ว่าตลาดตามแหล่งต่างๆในแต่ละที่เป็นแบบไหน คนทำงานเขาจะทานเบเกอรี่ไหม บางที่เขาอาจนิยมทานของกรุบกรอบมากกว่า และที่สำคัญวิธีการขอเข้าไปแต่ละที่ มันยากตรงเขามีสินค้าหมวดเดียวกันอยู่แล้ว เขาก็จะไม่ให้เราเข้าไป เราก็ต้องลองหาตลาดที่ใหม่ๆ อยู่ตลอด"

อีกสิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้การจับธุรกิจเบเกอรี่จากดีเจนู๋ คือ‘การลงทุนแบบทบสะสม' ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป เก็บสะสมไปเรื่อยๆ เริ่มจากเตาเล็กก่อน ลองผิดลองถูกหาประสบการณ์ให้ตัวเอง คำนวณจุดคุ้มทุน เพื่อเซฟความมั่นคงให้กับธุรกิจหมั่นฝึกฝนเพื่อสร้างความถนัดเฉพาะด้าน โดยเริ่มจากการขายเฉพาะสินค้าที่คิดว่าเด็ดที่สุด แล้วค่อยๆ ขยับขยาย จะทำให้ธุรกิจนั้น ดำเนินได้อย่างสะดุดน้อยที่สุด

"นู๋จับธุรกิจเบเกอรี่เป็น 2nd Job แต่อีกสิ่งหนึ่งที่นู๋รู้สึกดีคืออยากให้คุณพ่อคุณแม่มีงานอดิเรก หรือมีกิจกรรมทำร่วมกันอยากให้ท่านมีอะไรทำง่ายๆ ตอนอายุเยอะ ไม่ต้องซีเรียสมากถึงขนาดที่จะต้องขายดีแบบเทน้ำเทท่า อยากให้ท่านได้ออกไปเจอผู้คน ได้ใช้สกิลที่ท่านมี ไม่รู้สึกเหงา เพราะคนแก่มักขี้เหงา อีกสิ่งหนึ่งคือเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นงานเสริม มันก็ต้องทำให้เรารู้สึกสนุกกับมันด้วย นู๋เลยไม่อยากเริ่มจากการลงทุนสูงเพราะมันค่อนข้างเสี่ยง และจะทำให้เราเครียด"

นอกจากการไล่ระดับการลงทุนแบบ Step by step แล้วคุณนู๋ยังทดลองลงพื้นที่จริง ทำด้วยตัวเองหมดทุกขั้นตอนตั้งแต่การเลือกซื้อวัตถุดิบ ลงมือทำ การคำนึงเรื่องคุณภาพที่สดใหม่ และการลงมือขายในชนิดที่เรียกได้ว่าเป็นแม่ค้าอย่างเต็มตัว เพื่อทำให้ตัวเธอเองเข้าใจธุรกิจที่กำลังทำอยู่ให้มากขึ้นได้ทราบว่าสินค้าที่เธอกำลังทำอยู่นั้นต่างจากร้านอื่นอย่างไรซึ่งเธอเองก็ยืนยันว่า ราคาแบบนี้ คุณภาพแบบนี้ หาซื้อที่ไหนไม่ได้แน่


Profile
มนต์ทิพย์ ลิปิสุนทร (ดีเจนู๋)
First Job : ดีเจ Chill 89 fm
2nd Job : Tippee Bakery
งบประมาณ : 30,000 บาทขึ้นไป
เป้าหมาย : อยากให้คุณพ่อคุณแม่มีงานอดิเรกทำง่ายๆ อย่างเบเกอรี่ตอนอายุมากขึ้น



Be Magazine
ขอขอบคุณ : Be Magazineผู้สนับสนุนเนื้อหา

ป้ายอารมณ์ดี วาระดิถี ต้นทุนต่ำ จำหน่ายง่าย





2nd Job
เรื่อง : รัตติกาล พูลสวัสดิ์ / ภาพ : สุตสาย สังหาร

Emotion Tags Pioneer
สีสันเนื่องใน วาระดิถี

เทศกาลงานรับปริญญาปลายปีเตรียมจ่อคิวนับถอยหลัง ของขวัญแสดงความยินดีก็ซ้ำเดิม ครั้นจะซื้อดอกไม้ปล่อยให้กาลเวลานำพาซึ่งความเหี่ยวเฉา จุ๊ย ติ๊ก ปอ 3 สาวJewelry & Graphic Designer เจียดเวลาจากงานประจำ ใช้ความถนัดมาช่วยเสริมธุรกิจ เจาะกลุ่มสินค้างานรับปริญญา จนสามารถปล่อยให้ ‘วาระดิถี' แทรกตัวเข้าวงการ จนแม่ค้าเจ้าถิ่นแพ้ความแรงต้องผงะกันเป็นทิวแถว

"เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว พวกเราอยากให้ของขวัญ แต่มีเงินไม่มากพอ ประกอบกับต้องทำหน้าที่ช่างภาพให้กับรุ่นพี่ที่รับปริญญาด้วย เราอยากให้มีตัวเราอยู่ในภาพ เลยทำป้ายเป็นรูปหน้าตัวเองแล้วให้เขาถือ ปรากฏว่า ถึงแม้เราจะเป็นช่างภาพ แต่ก็ยังมีหน้าเราอยู่ในรูปเกือบทุกใบ มีคนให้ความสนใจและฟีดแบ็คดีมากค่ะ"

ธุรกิจนี้ถูกเปิดเผยว่า คนส่วนใหญ่อาจเข้าใจผิด คิดว่าไม่สามารถจับธุรกิจนี้ได้ตลอดทั้งปีและไม่ยั่งยืน เมื่อจัดการคำนวณระยะเวลาพิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศส่วนใหญ่จะรับกันตลอดทั้งปี โดยเริ่มจากปลายเดือนมิถุนายนรอบในเขตกรุงเทพฯ จนขยายไปถึงรอบนอก

"ตอนแรกเราไปยืนขายกันเอง แต่ตอนหลังเราก็จะฝากเจ้าถิ่นขาย คือ ป้าแม่ค้าที่อยู่มากับอาชีพขายของวันรับปริญญา เขาจะเป็นตัวกระจายสินค้าให้เราทั้งประเทศอีกทีหนึ่ง ซึ่งเขาเป็นแม่ค้าตัวจริง จองแผงทุกที่ แล้วก็วนไปทุกมหาวิทยาลัยเรียกได้ว่าเป็นเจ้าถิ่นวงการขายสินค้ารับปริญญา ที่เหล่าบรรดาแม่ค้าเขาสนใจเพราะว่า มีอยู่วันหนึ่งเราเอาไปยืนขายกันเอง แล้วตอนเย็นคนถือออกมากันเยอะมาก เขาเลยเข้ามาถามถึงคุณสมบัติว่าใช้งานยังไง ขายเท่าไหร่ ทำอะไรได้บ้างไหนเอามาลองดูหน่อย นี่คือจุดเริ่มต้นทำให้เราไม่ต้องเหนื่อยกับการหาช่องทางการจัดจำหน่ายด้วยตัวเอง"

พวกเธอใช้มิตรภาพ และอัธยาศัย เข้าไปพูดคุย คล้ายกับสุภาษิตที่ว่า อยากได้ลูกเสือ ก็ต้องเข้าถ้ำเสือ ถือเป็นการใช้กลยุทธ์ในเชิงรุก ซึ่งเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ได้อย่างตรงตัว และรวดเร็ว การสอบถามหาข้อมูล และการพยายามทำความคุ้นเคยกับแหล่งกระจายสินค้า จะทำให้จับจุดความต้องการของผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น

ประโยชน์ของป้ายอารมณ์ดี ไม่เพียงแค่อยู่ในรูปวาระโอกาสต่างๆ แต่ยังสามารถใช้บังแดด พัดวียามอากาศร้อนเรียกได้ว่าคุณสมบัติครบถ้วน ตรงกับความต้องการทุกการใช้งาน น้ำหนักเบา และยังเป็นที่ถูกอกถูกใจวัยรุ่น ผู้ปกครอง แต่ปัญหาก็ยังมี คือเรื่องของการจดลิขสิทธิ์ วาระดิถีได้ปรับโปรดักต์ให้อยู่ในรูปแบบของตัวแทนการมอบของขวัญ หรือการมอบของรางวัลให้กัน เหล่าบัณฑิตอาจได้เห็นกันอีกไม่นานอาทิ กุญแจรถยนต์ขนาดใหญ่ ประกาศนียบัตรขนาดใหญ่ ใบสมัครงานขนาดใหญ่ พร็อพถ่ายรูปอารมณ์ขันที่สร้างสีสันทั้งหมดจะเป็นแผนธุรกิจต่อไปของ ‘วาระดิถี' ในปลายปีนี้

"การจับกลุ่มลูกค้าเทศกาลวันรับปริญญา สิ่งสำคัญคือต้องแปลกใหม่จากตลาดช่องทางจัดจำหน่าย เพราะการจำหน่ายจะพีคเป็นช่วงๆ พีคแค่ไหนเงินที่ได้กลับมาก็จะเยอะตาม แต่เราคิดว่าเพียงแค่ยังมีสินค้าของ ‘วาระดิถี' อยู่ในรูปแบบต่างๆ ในงานรับปริญญาก็พอแล้ว เพราะมันเป็นไอเดียที่ใครก็คิดได้ แต่เราเป็นคนแรก ก็สามารถเป็นไอดอลให้คนอื่นได้"


วิธีคิดเริ่มต้นจากการหาความสนุก อยากหารายได้พิเศษระหว่างเรียน หลังจากทดลองขายระหว่างเรียน เกิดติดพันจนต้องนำกลับมาทำเป็นอาชีพเสริม ไม่หยุดไอเดียที่อยากนำมาพัฒนาต่อยอด สิ่งใดที่ใช้ใจทำอย่างไม่คาดหวัง มักจะมีสิ่งดีๆกลับมาเสมอ พวกเธอทั้งสามยังแสดงทัศนคติกับเราด้วยว่า "เพียงแค่มีคนทำตาม เท่านี้ก็ประสบความสำเร็จแล้วค่ะ"

*สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติทางร่างกาย สามารถดูแลตัวเองได้ ต้องการหารายได้พิเศษ สามารถติดต่อขอรับ ‘ป้ายอารมณ์ดี วาระดิถี'ไปจำหน่ายได้ในราคาพิเศษค่ะ


Profile
วิลาวัลย์ ลยานันท์ (จุ๊ย)
นวพร วงษ์เพ็ชร์ (ติ๊ก)
วิพาสพร ศรีพุ่ม (ปอ)
Firts Job : Jewelry / Graphic Designer
2nd Job : ป้ายอารมณ์ดี ‘วาระดิถี'
งบประมาณ / ชิ้น : ต้นทุน 7 บาท ขายส่ง 15 บาท ขายปลีก 25 บาท
เป้าหมาย : วาระดิถีอยู่คู่บัณฑิตไทย
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.varadithi.com
เบอร์โทร.ติดต่อ : 089 779 6917, 086 977 7305





Be Magazine
ขอขอบคุณ : Be Magazineผู้สนับสนุนเนื้อหา

คนรวยเพราะเสริม ตุ๊กตางามเพราะแต่ง





2nd Job
เรื่อง : รัตติกาล พูลสวัสดิ์ / ภาพ : สุตสาย สังหาร


Profile
คุณปิยวรรณ เณรผึ้ง

First Job : Graphic
2nd Job : Sweet Ribbon
งบประมาณ : ผ้าญี่ปุ่นเมตรละ 400-500 บาท / 10 ชุด โดยประมาณ
เป้าหมาย : เมื่อโอกาสกอบโกยมาถึง วางเป้าหมายปีนี้และปีหน้าให้เต็มที่
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.pumuq.net



เมื่อวัยเด็กอยากครอบครองของเล่นสักชิ้น ต้องออดอ้อนขอเงินคุณพ่อคุณแม่ คุณปุ๋ม-ปิยวรรณ เณรผึ้ง เมื่อถึงวัยทำงานจึงแบ่งปันรายได้มอบสุขเล็กๆ น้อยๆ ให้กับของเล่นในฝัน หลายคนมีประสบการณ์คล้ายกัน จากความชอบจึงถวิลหา และต่อยอดจนสร้างเป็นอาชีพ ปลดประจำการอาชีพหลัก พลิกผันเป็นงานเสริม


"เมื่อก่อนเคยทำงานประจำค่ะ ตำแหน่งกราฟิก แต่ตอนนี้มันกลายเป็นอาชีพเสริมไปเรียบร้อยแล้ว รับทำงานกราฟิกเป็นจ๊อบแทน และงานอดิเรกที่เป็นอาชีพเสริมกลายมาเป็นอาชีพหลัก เพราะเริ่มจริงจังมากขึ้น จากแต่ก่อนไม่ค่อยมีเวลาศึกษาทำให้มีเวลาศึกษามากขึ้น แล้วก็สามารถรับงานกราฟิกเป็นจ๊อบได้ สบายใจทั้ง 2 แบบ"


สาวหวานคนนี้หลงรักตุ๊กตาตั้งแต่ปี 2007 เริ่มต้นจาก Blythe จนหลงเสน่ห์ Ball Joint Doll (BJD) ตุ๊กตาปั้นทำจากเรซิ่น เป็นตุ๊กตาข้อต่อที่สามารถเปลี่ยนอิริยาบทได้ และนำตัวเองเข้าสู่วงการตัดเย็บชุดตุ๊กตาในปี 2008 เพราะชุดตุ๊กตาในตลาดส่วนใหญ่ราคาสูง คุณปุ๋มจึงหาข้อมูลแลกเปลี่ยนความรู้ การออกแบบ และการตัดเย็บกับกลุ่มเพื่อนที่เล่นตุ๊กตา เริ่มต้นโพสต์งานลงเว็บ Flickr และเป็นลูกค้าจากเมืองนอกเสียส่วนใหญ่ที่ชื่นชอบงานแฮนด์เมด จึงขยายแบรนด์ Sweet Ribbon ชุดตุ๊กตาสไตล์สาวหวาน ไปยังเว็บ Etsy ที่รวมงานแฮนด์เมดทุกประเภทจากทั่วทุกมุมโลก



"การทำชุดตุ๊กตาใช้เวลาค่อนข้างเยอะ ต้องใส่ใจรายละเอียด ศึกษาลายผ้าใหม่ๆ และคอยจับตาดูกลุ่มตลาดงานแฮนด์เมดที่ไม่ซ้ำใคร แม้กระทั่งการเลือกซื้ออุปกรณ์ การดีไซน์ การสื่อสารกับช่างเย็บ รวมถึงจัดระบบการอัพเดทสินค้าในเว็บไซต์ทุกปลายสัปดาห์ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าเรามีสิ่งใหม่ๆ มานำเสนอ"

กลุ่มนักเล่นตุ๊กตาเป็นกลุ่มค่อนข้างมีกำลังซื้อ เฉลี่ยชุดตุ๊กตา 5 ชุด ต่อตุ๊กตา 1 ตัว ราคาของชุดจะแตกต่างตามขนาด ตั้งแต่ไซส์มินิ จนถึงไซส์ใหญ่ เริ่มต้นที่ 350-700 บาท ต่อ 1 ชุด นอกเหนือจากชุดตุ๊กตา BJD แล้ว คุณปุ๋มยังแตกไลน์รับสั่งทำชุดตุ๊กตาประเภทอื่นๆ และกำลังขยายสินค้ากลุ่มคนเล่นตุ๊กตา ในรูปแบบเฟอร์นิเจอร์ไม้จิ๋วสไตล์ Decoupage ลูกค้าที่มีตุ๊กตาเป็นของตัวเองจะชอบถ่ายรูปกับพร็อพที่น่ารักเพื่อสร้างความสนุกสนานให้กับนักเล่นตุ๊กตามากยิ่งขึ้น

"Sweet Ribbon ไม่เพียงจำหน่ายในเว็บไซต์ ปุ๋มเองต้องเพิ่มจุดจำหน่ายเพื่อกระจายตลาด ตอนนี้ทำส่งร้านโมเน่ ที่จตุจักร เป็นร้านขายสินค้าตุ๊กตา ส่งแบบคละไซส์ เสาร์เว้นเสาร์ เพื่อสร้างทางเลือกให้กับลูกค้า และง่ายต่อการตัดเย็บ เราต้องกล้าที่จะเดินเข้าไปนำเสนอแบบกับร้านตุ๊กตาร้านอื่นๆ เพื่อเปิดช่องทางกระจายสินค้า เอาชุดให้ดูและเสนอในราคาขายส่ง เพื่อต่อยอด"

นอกจากการกระจายสินค้าตามร้านกลุ่มเป้าหมายต่างๆ แล้ว การจัดโปรโมชั่นในงาน Doll Mania Expo ถือว่าเป็นการตลาดที่น่าสนใจและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน ซึ่งการจัดชุดเป็นแพ็กเกจพิเศษ เสื้อ กางเกง กระโปรง สร้อย กระเป๋า ให้อยู่ในเซ็ตเดียวกัน เป็นการสร้างแบรนด์ให้ดูแตกต่าง



การจับธุรกิจของเล่นราคาสูง และใช้ฟังก์ชั่นที่มีราคาถูก
ถือเป็นการตลาดที่น่าสนใจ ไม่ว่าใครก็สามารถทำได้
เพียงแต่สไตล์ ไอเดีย และงานครีเอทต่างหาก
เป็นเรื่องยากที่จะเลียนแบบ
ไม่ว่าอาชีพใด เมื่อคุณค้นหาตัวเองเจอ
จงสร้างงานที่เป็นเอกลักษณ์

ลูกชิ้น อีกหนึ่งช่องทางสำหรับคนสู้ชีวิต


ทำลูกชิ้นหมู ไม่ยากอย่างที่คิด ไว้รับประทานเอง หรือ เป็นช่องทางในการสร้างรายได้


ลูกชิ้นหมู
ลูกชิ้น หมู ไก่ เนื้อ ปัจจุบันมีขายอยู่เป็นจำนวนมากในทุกๆพื้นที่ก็ว่าได้ แต่จะหาลูกชิ้นอร่อยๆโดยปราศจากการผสมแป้งในอัตราเยอะๆนั้นหายาก เพราะพ่อค้า แม่ขาย มักจะหวังผลกำไรอยู่ วันนี้มีสูตรทำลูกชิ้นหมูมาฝาก ใครจะดัดแปลงเป็นลูกชิ้นไก่ หรือลูกชิ้นเนื้อก็ได้ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

ส่วนผสม
1.เนื้อหมู1กก.
2. น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
3. เกลือ 2 ช้อนชา
4. น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ
5. น้ำมันพืช 1 ช้อนโต๊ะ
6. แป้งข้าวโพด 4 ช้อนโต๊ะ
7. ผงฟู 1 ช้อนชา
8. น้ำเปล่า 2 ช้อนโต๊ะ
9. พริกไทยบดหยาบๆ 1-2 ช้อนชา

วิธีทำ
นำเนื้อหมูสดหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อที่จะสามารถนำใส่เครื่องบดได้ง่ายๆ จากนั้นก็นำมาบดให้ละเอียดด้วยเครื่องปั่น(ถ้าบดยากก็เติมน้ำปลาลงไป2ช้อน โต้ะ) ใส่แป้งข้าวโพด และผงฟู บดปั่นให้เข้ากันอีกรอบ ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลทราย พริกไทย น้ำมันพืช เกลือ บดปั่นให้เข้ากันหลายๆรอบเพื่อเครื่องปรุงจะได้เข้าไปในเนื้อลูกชิ้น เพื่อเวลาปั้นลูกชิ้นจะเด้ง หลังจากบดได้ที่แล้วก็นำใส่ในชามแล้วแช่ช่องฟรีชให้เนื้อที่บดได้รับความ เย็นจนทั่วประมาณ1ชั่วโมงครึ่ง

หลังจากนั้นก็นำหม้อมาต้มน้ำให้เดือด แล้วหรี่ไฟอ่อนๆ นำเนื้อที่แช่ไว้ในช่องฟรีชออกมา ใช้ช้อนตักเนื้อใส่มือแล้วบีบให้เนื้อบดออกมาระหว่างนิ้วชี้กับนิ้วโป้งของ เรา ใส่ลงในหม้อต้มน้ำร้อนที่เตรียมไว้ จากนั้นเตรียมน้ำแข็งแช่น้ำให้เย็นใส่ภาชนะไว้1ถ้วย เมื่อลูกชิ้นลอยขึ้นมาจากหม้อต้มน้ำแสดงว่าลูกชิ้นนั้นสุกแล้ว เราตักไปแช่ในน้ำเย็นทันทีเพื่อให้ลูกชิ้นกรอบและเด้ง เป็นอันเสร็จเรานำลูกชิ้นใส่ถุงเก็บเข้าตู้เย็นเพื่อนำไปใช้ได้ในการประกอบ อาหารได้เลย

ดูด เจาะ ไข่

BE Smart
เรื่อง : รัตติกาล พูลสวัสดิ์ / ภาพ : สุตสาย สังหาร

ดูด เจาะ ไข่
Innovation Ice Cream




เมืองร้อนอย่างบ้านเรา อาหารที่ถูกปากคนไทยคงจะหนีไม่พ้นไอศครีม ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด อากาศที่แสนอบอ้าวเช่นนี้ ก็ไม่เคยเปลี่ยนให้เย็นขึ้น ผลิตภัณฑ์ไอศครีมจึงเป็นธุรกิจของหวานที่ตอบโจทย์คนไทยได้ดีที่สุด

คุณมรุต ชโลธร เจ้าของกิจการ บริษัท อินโนเวชั่น ฟู้ด แพคเกจจิ้ง จำกัด พูดถึงนวัตกรรมไอศครีมที่เกิดขึ้นใหม่ในเมืองไทยอย่างไอศกรีมแบรนด์ i-maru ที่เขาได้ทำหน้าที่ดูแลทุกกระบวนการผลิต รวมถึงวางแผนการทำมาร์เก็ตติ้ง จึงทำให้ลูกค้าจากที่เคยเป็นผู้บริโภคให้ความสนใจจนกลายเป็น ‘franchisee' ถึง 50 ราย ในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี

"ก่อนที่เราจะผลิตโปรดักส์ใหม่ๆ แต่ละตัวออกไป เราได้ทำการรีเสิร์ชเบสจากสาขาจตุจักร เพื่อเป็นจุดทดลองเพราะที่ตลาดนัดสวนจตุจักรเป็นสถานที่ที่มีคนหลากหลายไลฟ์สไตล์ ทำให้เราได้ข้อมูลอย่างทั่วถึง โดยตัวรสชาติผมค่อนข้างมั่นใจ ถ้าไม่อย่างนั้นยอดขายคงไม่เพิ่มอย่างต่อเนื่องถ้าเราจะพึ่งแค่ความแปลกใหม่เพียงอย่างเดียว"

i-maru สามารถดึงดูดความสนใจโดยใช้ ‘กับดักทางความคิด' ให้เกิดความสงสัยด้วยลูกเล่นจากวิธีการทานที่แปลกใหม่ ซึ่งแตกต่างจากการทานไอศครีมแบบเดิม ที่จะมีเพียงแค่ โคน, ถ้วย, ไม้, ให้กลับกลายเป็นแฟชั่นและความสนุก ด้วยรูปลักษณ์ชวนสงสัยในแบบ ‘ไข่แช่แข็ง' ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว คนยุคเก่าจะรู้จัก ‘ไอศครีมลูกโป่ง' โดยเอาน้ำหวานบรรจุ แต่ด้วยตัวลูกโป่งไม่ได้ทำมาเพื่อรองรับผลิตภัณฑ์อาหาร จึงทำให้ค่อยๆ จางหายไป ส่วนยุคต่อมาคือยุค ‘ไอศกรีมโลนลี่ป๊อป' ใช้วิธีการทานด้วยการหักแล้วดูด แต่เนื่องจากพลาสติกมีสารปนเปื้อนก็ทำให้หมดไป ในที่สุดนวัตกรรมการทานไอศครีมจึงเหลือเพียงไม่กี่รูปแบบเท่านั้น

"ความตั้งใจของผมมีพื้นฐานมาจาก 4 ปีที่แล้ว สินค้าเกษตรล้นตลาด จึงตั้งใจพัฒนาทุเรียนให้อยู่ในรูปแบบแช่แข็ง ผมต้องการทำไอศครีมผลไม้ 100% ที่เป็นรูปไข่ เราก็เลือกบรรจุภัณฑ์ว่ามันสามารถเป็นแบบไหนได้บ้าง หลังจากทดลองมากว่า 2 ปี สรุปแล้วยางคือคำตอบที่ดีที่สุด มีคุณสมบัติการยืดหยุ่น สามารถสร้างลูกเล่นได้หลากหลาย และเราใช้ยางชนิดเดียวกับจุกขวดนมเด็กทารก สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ อาจจะช้ากว่ากระดาษแต่ก็เร็วกว่าพลาสติก"

ไอศครีม i-maru มี 2 โปรดักส์ให้เลือก ชนิดแรกคือ mi-lu-ku จุดเด่นใช้วัตถุดิบนมฮอกไกโด จากประเทศญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องความกลมกล่อมของนมวัว และวิธีการทานที่แตกต่างด้วยการดูด ซึ่งมีคอนเซ็ปต์ว่า ‘นมพุ่งปรี๊ด' ในรูปแบบดูดจากเต้านมวัว ชนิดที่สองคือ tamago เป็นไอศกรีมผลไม้ 100% มีทั้งหมด 2 รสชาติ ทุเรียนหมอนทอง และ มะม่วงน้ำดอกไม้ วิธีการรับประทานคือการใช้ไม้เจาะ ผลิตภัณฑ์ที่ห่อหุ้มก็จะหลุดออกเหมือน ‘ไข่แตกโพละ'

"นอกจากโปรดักส์ที่มีอยู่ในตอนนี้แล้ว อนาคตผมยังอยากเพิ่มความแปลกใหม่เข้ามาเรื่อยๆ ทั้งด้านรสชาติใหม่และรสชาติเก่า กลยุทธ์แรกเรามีการปรับหมุนเวียนรสชาติ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซากจำเจ ส่วนกลยุทธ์ที่ทำซ้อนเข้าไปคือ ในแต่ละจังหวัดเอกลักษณ์ที่ชัดเจนในแต่ละที่ เราจะทำรสชาติเพื่อรองรับสถานที่แห่งนั้น เช่น หัวหิน เราจะทำรสชาติ ‘เบียร์สับปะรด' ซึ่งจะมีเฉพาะหัวหิน หรืออย่างที่ mansion seven เป็นที่แฮงเอาต์ของคนกรุงเทพฯในระดับหนึ่ง เราก็จะมีรสชาติ ‘วอสก้ามะนาว' เป็นกลยุทธ์เรื่องรสชาติที่สอดคล้องความเป็นยูนีคของแต่ละสถานที่ไว้ด้วย"

ด้วยสูตรที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเองจากวิธีการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าคุณมรุตจะจบวิศวะ แต่เขาถือว่าคือข้อดี จากที่ผู้ใหญ่เคยบอกเสมอควรทำในสิ่งที่ตนเองรู้ แต่ถ้าเราหัดคิดนอกกรอบและคิดอยู่เสมอว่าถ้าเราไม่รู้ เราก็จะรู้มากขึ้น แต่ถ้าเรารู้แล้วไม่ขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม สินค้าทั่วโลกก็จะไม่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างแน่นอน


"การที่ผมไม่ได้อยู่ในวงการไอศกรีม ผมจึงไม่ได้ถูกตีกรอบว่าส่วนผสมทั้งหมดต้องใช้กี่เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้เราสามารถคิดได้อย่าง 360 องศา และคิดนอกกรอบได้เสมอ"