Tuesday, June 7, 2016

ทิ้งชีวิตคนเมือง สู่ "ไร่สุขพ่วง" เกษตรกรอายุน้อย หัวใจพอเพียง

เกษตรอินเทรนด์
สดุจตา

ทิ้งชีวิตคนเมือง สู่ "ไร่สุขพ่วง" เกษตรกรอายุน้อย หัวใจพอเพียง
"พื้นที่ไม่มาก แต่จะทำอย่างไรให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ก็ต้องนำมาแปรรูป เราจึงไม่ขายผักผลไม้สด อย่างกล้วย นำมาอบด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ต้นกุยช่ายมาทำขนม ใบย่านางมาทำชา หรืออย่างอ้อย ชาวบ้านปลูกใช้พื้นที่ 10, 20 ไร่ ขายส่งให้โรงงานผลิตน้ำตาล ก็ถูกกดราคา แต่ผมเรียนรู้กระบวนการหีบอ้อย นำภูมิปัญญาบรรพบุรุษมาใช้ เพื่อทำน้ำตาลอ้อยเอง ปลูกทุกอย่างในรูปแบบอินทรีย์ จำนวนแค่ 1.5 ไร่ แต่สามารถทำรายได้เทียบเท่าคนที่ปลูกเป็นสิบๆ ไร่"

เรียนหนังสือตั้งแต่อายุราว 3 ขวบ ก้าวจบจากรั้วมหาวิทยาลัยในวัยกว่า 20 ปี จากนั้นเดินทางสู่ระบบลูกจ้าง วางกรอบชีวิตติดอยู่กับคำว่ามนุษย์เงินเดือน สร้างฐานะ ด้วยการผ่อนรถ ผ่อนบ้าน มีครอบครัว พุ่งเป้าทำงานใช้หนี้ กว่าจะหมดซึ่งหนี้สินอาจก้าวสู่วัยเกษียณ

วงจรชีวิตของคนจำนวนมากเป็นเช่นนี้ แต่ไม่ใช่กับ คุณอภิวรรษ สุขพ่วง แห่ง "ไร่สุขพ่วง"

ไม่ตามกระแส

ขอแค่พอเพียง


แม้คุณอภิวรรษจะใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนจนจบปริญญา และทำตามกรอบของคนหมู่มากมาบ้าง คือหลังศึกษาจบ ทำงานในตำแหน่งลูกจ้าง แต่ทว่าภายในระยะเวลา 6 เดือน เขา "คิดได้" และตัดสินใจเก็บกระเป๋ามุ่งหน้ากลับบ้านเกิดอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ซึ่งในยามนั้นเขารับตำแหน่ง "คนตกงาน"

"ตัวอย่างของคนที่เดินตามกรอบกระแสโลกมีเป็นล้านคน ใช้เวลาเรียนนับสิบปี พ่อแม่บางคนต้องขายที่ขายทาง บางคนหมดตัว พอลูกเรียนจบก็ไปทำงานให้คนอื่น ติดระบบคนเมือง ทำงานได้สักพักมีครอบครัว ซื้อบ้าน ซื้อคอนโดมิเนียม ใช้เงินเดือนผ่อน บางครั้งกว่าจะหมดก็อายุ 60 ปี ผมถามตัวเองว่าจะเดินตามรอยนี้หรือ จึงตัดสินใจกลับบ้าน ตอนนั้นคิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เป็นภาระของพ่อแม่ พยายามหาทางช่วยเหลือครอบครัว"

หันมามองรายจ่ายของครอบครัว พบว่าครึ่งหนึ่งหมดไปกับสินค้าอุปโภคบริโภค จึงคิดหาทางช่วยลดรายจ่ายส่วนนี้ลงก่อน

"ผมตามแม่ไปตลาด ก็ดูเลยว่า แม่ซื้ออะไรบ้าง ข้าว ไข่ ปลา ผัก สบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม ฉะนั้น ถ้าทำสิ่งนี้ขึ้นมาก็หมายความว่าไม่ต้องซื้อ ซึ่งพอผมมองย้อนไปรุ่นปู่รุ่นทวด เขาทำนามีข้าวกินทั้งปี แต่ว่าพ่อกับแม่รับราชการ ไม่ได้สานต่ออาชีพเกษตร เราต้องซื้อข้าวกินมาเป็นเวลานับสิบปี ซื้อผัก ซื้อทุกอย่าง"

จัดระบบพื้นที่ดิน

มีรายได้ไม่ขาดช่วง


พื้นที่ 25 ไร่ คือคำตอบในการลดทอนค่าใช้จ่ายหลัก แต่เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ความรู้คือสิ่งสำคัญ คุณอภิวรรษ เดินทางไปศึกษาแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง กับครูบาอาจารย์หลายท่าน โดยเฉพาะผู้ที่ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เพื่อนำองค์ความรู้มาปรับใช้

กระทั่งได้ลงมือจริงในปี 2553 จัดการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วนหลักๆ ได้แก่ แหล่งน้ำ (ขุดบ่อน้ำเพื่อรองรับน้ำฝนไว้ใช้ขนาดประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่) ทำแปลงนาข้าว ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และสร้างที่อยู่อาศัย

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเลี้ยงสัตว์บางชนิดเพื่ออาศัยผลพลอยได้ ไม่ใช่เพื่อการฆ่า อย่าง เลี้ยงปลาดุก เพื่อนำน้ำจากบ่อเลี้ยงมาทำปุ๋ยสูตรน้ำ เลี้ยงหมูเพื่อนำมูลมาทำปุ๋ยแห้ง เลี้ยงไก่เพื่อนำไข่ไก่มาประกอบอาหาร

ด้วยกระบวนการจัดการระบบอินทรีย์วิถีไทย ทำให้ไร่สุขพ่วง มีรายได้ 4 ช่วงเวลาคือ รายได้รายวัน มาจากการขายไข่ไก่ รายได้รายเดือนมาจากผัก ที่เก็บตัดแล้วนำมาแปรรูปจำหน่าย อย่างผักสลัด ผักกุยช่าย รายได้รายปีจากการปลูกข้าว และรายได้วัยเกษียณจากไม้ใหญ่ในป่าที่ปลูกขึ้น

"พื้นที่ไม่มาก แต่จะทำอย่างไรให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ก็ต้องนำมาแปรรูป เราจึงไม่ขายผักผลไม้สด อย่างกล้วย นำมาอบด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ต้นกุยช่ายมาทำขนม ใบย่านางมาทำชา หรืออย่างอ้อยชาวบ้านปลูกใช้พื้นที่ 10, 20 ไร่ ขายส่งให้โรงงานผลิตน้ำตาล ก็ถูกกดราคา แต่ผมเรียนรู้กระบวนการหีบอ้อย นำภูมิปัญญาบรรพบุรุษมาใช้ เพื่อทำน้ำตาลอ้อยเอง ปลูกทุกอย่างในรูปแบบอินทรีย์ จำนวนแค่ 1.5 ไร่ แต่สามารถทำรายได้เทียบเท่าคนที่ปลูกเป็นสิบๆ ไร่" 

ปลูก แปรรูป ขาย

ทำได้เองทุกขั้นตอน


ตลาดรองรับเป็นเรื่องสำคัญต้องเข้าถึงผู้บริโภค ซึ่งคุณอภิวรรษ ว่า หากจะขายสินค้าคุณภาพ เกิดมาตรฐานเป็นที่น่าเชื่อถือ ก็ไม่ควรนำสินค้าไปปะปนกับตลาดสินค้าเคมี

"เมื่อศึกษาตลาดพบว่ามีผู้จัดตลาดนัดสินค้าสุขภาพขึ้น โดยให้ผู้ค้าตระเวนไปขายตามอาคารต่างๆ ในกรุงเทพฯ ผมจึงเลือกนำสินค้าภายใต้แบรนด์ สุขพ่วง ไปทำตลาดให้ตรงจุด นอกจากนั้น เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนในยุคนี้ ต้องสร้างสื่อออนไลน์ขึ้นมา เปิดเฟซบุ๊ก โดยใส่เรื่องราว และภาพให้เขารู้จักเรา และเห็นความเคลื่อนไหว"

คุณอภิวรรษ ว่า ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์เหมาะสมและดูดี ก็เป็นอีกวิธีที่จะดึงความโดดเด่นของสินค้าให้ชัดเจนขึ้น

จุดขาย 3 ประการคือ ปลูกเอง แปรรูปเอง จำหน่ายเอง ถือเป็นวิธีเข้าถึงลูกค้าได้ดีที่สุด เพราะสามารถอธิบายได้ทุกกระบวนการ เพื่อสร้างความเชื่อถือต่อลูกค้า "เราทำสินค้าโดยคิดว่านี่คือผลิตภัณฑ์ที่ลูกทำให้พ่อแม่ทาน ฉะนั้น ต้องใส่ใจทุกรายละเอียด"

สินค้าแทบทุกชนิดจากไร่สุขพ่วง จะเน้นแปรรูปก่อนจำหน่าย แม้พื้นที่ปลูกจะไม่มาก ก็สามารถสร้างความยั่งยืนให้ผลิตผลบนพื้นที่มีพอสำหรับบริโภคในครัวเรือน และจัดจำหน่าย

จากความสำเร็จของไร่สุขพ่วง ที่เริ่มต้นลงมือปลูกเพื่อสร้างความพอเพียงให้กับครอบครัว "สุขพ่วง" แต่มาในวันนี้กลับกลายเป็นสร้างธุรกิจเล็กๆ ให้เกิดขึ้น

"คำว่า เศรษฐกิจพอเพียง มีอยู่ 2 แบบคือ เศรษฐกิจพอเพียงในขั้นพื้นฐาน นั่นหมายถึง ทำเพื่อให้ครอบครัวอยู่ได้ แต่เมื่อสำเร็จขั้นนี้แล้ว ก็ไปต่อกับเศรษฐกิจพอเพียงขั้นก้าวหน้าคือ มาสู่กระบวนการสร้างธุรกิจ และเผยแพร่แบ่งปัน ซึ่งผมยืนอยู่ตรงจุดนี้แล้ว"

คุณอภิวรรษ ยังเล่าถึงบันได 9 ขั้นของคำว่า ความพอเพียง ซึ่งในข้อที่ 1-4 ถือเป็นเศรษฐกิจพอเพียงในขั้นพื้นฐาน คือ 1. พอกิน 2. พอใช้ 3. พออยู่ 4. พอร่มเย็น และเมื่อสำเร็จแล้วก็มาสู่ข้อที่ 5-9 กับเศรษฐกิจพอเพียงขั้นก้าวหน้า 5. ทำบุญ (เพื่อป้องกันมิให้เกิดความโลภ) 6. ทำทาน (แบ่งปันให้กับผู้ที่ลำบาก) 7. เก็บรักษา (ทั้งด้านภูมิปัญญา ความรู้ ประสบการณ์) 8. แปรรูป (เพื่อเพิ่มมูลค่าออกสู่ตลาด อันนำมาสู่ระบบธุรกิจ) และ 9. เผยแพร่องค์ความรู้ (ถ่ายทอดสู่ผู้อื่น)

"เมื่อผมทำสำเร็จ ครอบครัวอยู่ได้ เปลี่ยนคนตกงานให้เป็นเกษตรกรได้แล้ว ผมก็ต้องการส่งเสริมผู้อื่น ส่งต่อความรู้ จึงจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้อินทรีย์วิถีไทย (Earth Safe) โดยร่วมกับมูลนิธิรักษ์ดิน รักษ์น้ำ (Earth Safe) เปิดคอร์สการอบรมครบวงจร ตั้งแต่ ปลูกผัก ทำปุ๋ยใช้เอง ทำอาหารสัตว์ ไปจนถึงการทำตลาด" 

คนเมืองสนใจ

ปลูกผักในตะกร้า


ด้วยเพราะพื้นที่อำเภอจอมบึงประสบปัญหาทั้งดินเสื่อมโทรม ขาดแคลนน้ำ คุณอภิวรรษจึงคิดค้นการปลูกผักในภาชนะ โดยได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จัดอบรมชาวบ้านให้สานตะกร้าจากสายรัดพลาสติกชนิดทนแดดให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู เพื่อให้พืชเจริญเติบโตได้ดีในภาชนะ

นอกจากคนในพื้นที่ได้เรียนรู้การปลูกผักไว้ทานและจำหน่าย ยังส่งผลสู่บุคคลภายนอก อย่างผู้อยู่ในสังคมเมืองใหญ่ ที่มีพื้นที่อยู่อาศัยจำกัด อย่าง คอนโดมิเนียม ก็สามารถปลูกผักทานเองได้ หรือถ้าใครต้องการต่อยอดไปสร้างเป็นอาชีพ ก็สามารถดำเนินการได้

ด้วยวัยเพียง 27 ปี ถือว่ายังเป็นตัวเลขอายุน้อย แต่ทว่ากระบวนการคิด และลงมือทำ ของคุณอภิวรรษถือเป็นแบบอย่างให้กับคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งการเดินสู่เส้นทางสายนี้ ไม่เพียงส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ดี มีรายได้พอเลี้ยงตนเอง แต่เหนือกว่านั้นคือ ความสุข กับการได้อยู่ในบ้านเกิด อยู่ใกล้ชิดครอบครัว โดยสร้างประโยชน์ให้กับทั้งตนเองและคนรอบข้าง

ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ต้องการจะเดินตามวิถีเช่นนี้ คุณอภิวรรษ ว่า ยินดีสนับสนุน โดยเฉพาะในด้านองค์ความรู้ สามารถโทรศัพท์ติดต่อเข้ารับการอบรมล่วงหน้าได้ที่ โทรศัพท์ (089) 379-8950

พร้อมกันนี้ ยังได้ฝากข้อคิดสำหรับคนรุ่นใหม่ "ผมอยากให้คิดให้ได้ก่อนว่าความมั่นคงคืออะไร มันคือปัจจัย 4 ใช่หรือไม่ และถ้าที่ดินไม่มี แต่มีภูมิปัญญาก็นำภูมิปัญญามาต่อยอด ผมว่าก่อนอื่นต้องรู้จุดเริ่มก่อน เข้าใจคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง และส่วนของความรู้ที่ร่ำเรียนมา ก็นำมาบูรณาการ

ส่วนผู้ยังคงต้องอยู่กับงานประจำ ยังก้าวออกมาไม่ได้ ก็ขอให้เรียนรู้อย่างมีสติ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ทั้งหมดกับสิ่งนั้น เพื่อวันหนึ่งนำกลับไปพัฒนาบ้านเกิด กลับไปนำของเก่ามาก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะ ศิลปวัฒนธรรม พืชพันธุ์ ภูมิปัญญา สิ่งเหล่านี้สามารถประยุกต์ให้เกิดความร่วมสมัยได้ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง"

ไร่สุขพ่วง ตั้งอยู่ เลขที่ 107 หมู่ 10 ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี 70150 โทรศัพท์ (089) 379-8950, www.facebook.com/raisukphang


ที่มา
วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 22 ฉบับที่ 397
http://info.matichon.co.th/rich/rich.php?srctag=0730150559&srcday=&search=no

No comments:

Post a Comment